หนูหิวใกล้ตายเลือกแพร่พันธุ์มากกว่ากิน

ในทางชีววิทยาว่าด้วยชีวิต การดำรงสายพันธุ์คือเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ การสืบพันธุ์เพื่อสร้างลูกหลานจึงถือเป็นเรื่องปกติ บ่อยครั้งการแพร่สายพันธุ์ของตนเองกระทำโดยไม่สนใจด้วยซ้ำว่าสิ่งมีชีวิตอื่นจะอยู่รอดหรือไม่ นี่คือความเห็นแก่ตัวของชีวิต ตัวอย่างที่พอเห็นจากประวัติศาสตร์คือการรุกรานของชนผิวขาวจากยุโรปในแผ่นดินอเมริกา ชนพื้นเมืองที่เคยมีชีวิตอยู่มาก่อน ถูกฆ่าล้างทำลายเผ่าพันธุ์จนแทบไม่เหลือ ย้อนเวลากลับไปในอดีตหลายหมื่นปี มนุษย์ยุคแรกก้าวเท้าไปถึงทวีปออสเตรเลีย ผลที่ตามมาคือการทำลายล้างสัตว์ใหญ่จนสูญพันธุ์ไปแทบหมด กระทั่งส่งผลกระทบต่อสายพันธุ์ตนเอง เป็นชีวิตที่ขาดศีลธรรมมากำกับ ทำนองนั้นที่กล่าวถึงเป็นเรื่องของการทำลายล้างของสายพันธุ์หนึ่งต่อสายพันธุ์อื่น ในทางกลับกันกรณีที่สายพันธุ์ของตนเองถูกกระทำ สิ่งมีชีวิตต่างพัฒนากระบวนการเพื่อดำรงรักษาเผ่าพันธุ์ของตนเองไว้ ลองดูเทคนิคการเร่งพืชบางชนิดให้ออกผลเพื่อรักษาสายพันธุ์ไว้ก็คงเห็น หากพืชรับรู้ว่าตนเองจะตายลง พืชมักเร่งการออกผลเร็วและมากขึ้นเพื่อคงสายพันธุ์ไว้ คุณสมบัติลักษณะนี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคโลญจน์ เยอรมนี นำทีมโดย ดร.แอนน์ เพตโซลด์ (Anne Petzold) และคณะทำการศึกษาวิจัยและตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสาร Cell Metabolism เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2023 ทีมวิจัยอยากรู้ว่ามีกลไกอะไรทางชีวเคมีในร่างกายที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้บ้างคำถามของทีมวิจัยคือหากหนูทดลองถูกปล่อยให้ขาดอาหารจนใกล้ตาย หนูเหล่านั้นจะมีปฏิกิริยาอย่างไร โดยให้เลือกสองอย่างคือกินอาหารเพื่อมีชีวิตรอด หรือผสมพันธุ์เพื่อให้ลูกหลานมีชีวิตรอดต่อไป เป็นทำนองเพื่อดำรงสายพันธุ์ ผลการศึกษาพบว่าหนูที่หิวโหยสาหัสให้ความสำคัญกับการมีปฏิสัมพันธ์กับเพศตรงข้ามมากกว่าจะหันมาสนใจเรื่องการกินและดื่ม สิ่งที่พบคือหนูกลุ่มนี้สมองถูกกระตุ้นด้วยสารเลปติน (Leptin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่กดความอยากอาหารไว้ หนูจึงไม่สนใจกินอาหารแต่มุ่งไปที่การสืบพันธุ์มากกว่านักวิจัยอธิบายว่าในสถานการณ์เช่นนั้น สัญชาติญาณของหนูทำให้จิตใต้สำนึกตัดสินใจเลือกที่จะแพร่พันธุ์ซึ่งมันมีโอกาสเช่นนี้น้อยกว่า ในขณะที่การกินและดื่มให้หายหิวนั้น มันมีโอกาสค่อนข้างมากทั้งในสถานการณ์ปกติและภาวะหน้าสิ่วหน้าขวานอย่างนั้น มีกลไกทางชีวเคมีที่เกิดขึ้นในสมองส่วนไฮโปธาลามัส โดยมีฮอร์โมนเกี่ยวข้องสองสามตัว นักวิจัยพบการสร้างเลปตินจากเซลล์เนื้อเยื่อไขมันให้หลั่งเข้ากระแสเลือดกระทั่งทำงานกดความรู้สึกอยากอาหารไว้ หนูแม้หิวขนาดหนักกลับไม่กินอาหารแต่เลือกที่จะผสมพันธุ์มากกว่า กลไกธรรมชาติเกิดขึ้นอย่างนั้น #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #หนูหิวใกล้ตายเลือกแพร่พันธุ์มากกว่ากิน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *