ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สำนักงานปัตตานี)

ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ) ในฐานะเลขานุการคณะทำงานด้านผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล (WGHAPAS) เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 28 (28th IMT-GT Ministerial Meeting) แผนงาน IMT-GT วันศุกร์ที่ 16 กันยายน 2565 ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) นำโดย ดร. พรพิมล มะหะหมัด ผู้ช่วยผู้อำนวยการ พร้อมด้วย ดร.นัจวา ยานยา สันติวรกุล และเจ้าหน้าที่ ศวฮ คณะทำงานสาขาผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล (WGHAPAS) เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงาน IMT-GT โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในการประชุม ร่วมกับดาโต๊ะ ศรี มุสตาปา บิน โมฮัมเม็ด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย และ ดร.อากุส กูมิวัง กาตาซัสมิตา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมของอินโดนีเซีย และมีนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นผู้แทนระดับอาวุโสของไทย ในช่วงการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 28 แผนงาน IMT-GT โดยได้รายงานผลการประชุมที่ผ่านมา ประกอบด้วย (1) การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 29 แผนงาน IMT-GT (The 29th Senior Officials’ Meeting) (2) การประชุมสภาธุรกิจ IMT-GT (IMT-GT Joint Business Council’s Meeting) และ (3) การประชุมระดับมุขมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัด ครั้งที่ 19 (The 19th Chief Ministers and Governors’ Forum) ซึ่งโอกาสนี้ถือเป็นเวทีสำคัญในการประกาศใช้แผนดำเนินงานระยะห้าปี ฉบับที่ 2 หรือ Implementation Blueprint (IB) 2022-2026 โดยจะมุ่งต่อยอดการพัฒนา และนำไปสู่การฟื้นตัวของอนุภูมิภาคอย่างยืดหยุ่น ครอบคลุม (Inclusive) และยั่งยืน (Sustainable) อีกทั้งรัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT-GT ของไทย ยังได้ให้ข้อเสนอแนะ 3 ประการเพื่อพลิกโฉมอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งของ IMT-GT ประกอบด้วย (1) เร่งพัฒนาและต่อยอดโครงการเพื่อสนับสนุนการเป็นจุดหมายปลายทางเดียวกันด้านการท่องเที่ยว (2) มุ่งเน้นการผลิตสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง เช่น ยางพาราและปาล์มน้ำมัน และ (3) พัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานฮาลาลให้เป็นที่ยอมรับของตลาดโลก ขณะเดียวกัน ยังเสนอแผนงาน IMT-GT พัฒนายกระดับศักยภาพแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาอนุภูมิภาค รวมทั้งได้ให้ความสำคัญกับการร่วมมือระหว่างภาคเอกชนของทั้งสามประเทศ ซึ่งจะยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่ได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ผลของการประชุมครั้งนี้จะรายงานต่อที่ประชุม 14th SUMMIT ต่อไป ในปี 2566 อินโดนีเซียจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี คร้งที่ 29 แผนงาน IMT-GT และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *