วันสตรีสากลกับบทบาทของความเป็นแม่

วันนี้วันที่ 8 มีนาคม สหประชาชาติกำหนดให้เป็น “วันสตรีสากล” เพื่อให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของสตรีเน้นกันที่บทบาทในสังคมว่ากันอย่างนั้น ทำไมต้องเป็นวันที่ 8 มีนาคม ดูเหมือนความเป็นมาไม่น่าประทับใจสักเท่าไหร่ การเฉลิมฉลองครั้งแรกเริ่มใน ค.ศ.1911 แต่เป็นวันที่ 19 มีนาคมเพื่อรำลึกย้อนหลังไปใน ค.ศ.1848 เมื่อกษัตริย์แห่งประเทศปรัสเซียซึ่งเวลานี้คือเยอรมนีทรงประกาศให้สตรีมีสิทธิเลือกตั้งทางการเมืองเน้นกันที่ความเท่าเทียมกับบุรุษ ฉลองกันไปได้สองปี ถึง ค.ศ.1913 จึงเปลี่ยนเป็นวันที่ 8 มีนาคมด้วยเห็นว่าความเท่าเทียมจริงยังไม่เกิดขึ้นจำเป็นต้องเริ่มกันอีกครั้ง เหตุที่เป็นวันที่ 8 มีนาคมเพียงต้องการให้มีสักวันเพื่อรำลึกถึงความสำคัญของสตรี ความเป็นมาของวันที่ 8 มีนาคมจึงไม่น่าประทับใจอย่างที่บอก

อย่างไรก็ตามในเดือนมีนาคมยังมีอีกวันหนึ่งที่น่าสนใจ แต่อาจนับเฉพาะมุสลิมเท่านั้นนั่นคือวันที่ 6 มีนาคม เมื่อย้อนกลับไปใน ค.ศ.632 วันที่ 6 มีนาคมปีนั้นตรงกับวันที่ 9 ซุลฮิจญะ ฮ.ศ.10 ท่านนบีมุฮัมมัด ซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ทำฮัจญฺครั้งแรกและครั้งสุดท้าย ซึ่งวันนั้นท่านนบีเทศนาธรรมที่เรียกว่าคุตบะฮฺตุลวะดะฮฺหรือการเทศนาธรรมครั้งสุดท้าย ณ ทุ่งอะรอฟะฮฺ ใกล้เมืองมักกะฮฺ ส่วนหนึ่งในเทศนาธรรมคือการประกาศว่า “บุรุษนั้นมีสิทธิเหนือสตรี และสตรีมีสิทธิเหนือบุรุษ” ชัดเจนในความเท่าเทียมกันระหว่างสตรีและบุรุษในหน้าที่ที่ทั้งสองฝ่ายต้องรับผิดชอบ หากต้องการให้มีสักวันเป็นวันสตรี สำหรับมุสลิมน่าจะเป็นวันที่ 6 มีนาคม นี่คือความเห็นของผมคนเดียว

อิสลามถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรมอยู่บ่อยในเรื่องสิทธิสตรี ทว่าในข้อเท็จจริงปรากฏว่าท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) ให้ความสำคัญในเรื่องสตรีอย่างยิ่ง เริ่มกันตั้งแต่เมื่อครั้งท่านประกาศศาสนาอิสลาม ท่านห้ามประเพณีการสังหารทารกโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพศหญิงที่นิยมทำกันในสังคมอาหรับยุคญะฮีลียะฮฺหรือยุคของความมืดบอดทางปัญญาซึ่งเป็นยุคก่อนอิสลาม ท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) ประณามประเพณีเช่นนั้น ทั้งในคัมภีร์อัลกุรอานยังปรากฏหลายวรรคกล่าวถึงข้อห้ามเรื่องการสังหารทารกซึ่งเรียกว่าฆอตัลอัฏฟาล (قتل الأطفال) ได้แก่ อันนะฮฺลฺ 16:58, 59 อัลอิสรออฺ 17:31, อัลอันอาม 6:151, อัตตักวีรฺ 81:8,9

มีเรื่องเล่าหรือหะดิษที่บันทึกไว้ว่าในอิสลามสวรรค์อยู่ใต้ฝ่าเท้ามารดา อีกทั้งยังมีหะดิษกล่าวถึงการให้ความสำคัญต่อสตรีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทบาทของความเป็นแม่ เพราะรับรู้กันเสมอไม่ว่าจะในสังคมไหน บทบาทสำคัญที่สุดของสตรีคือมารดา บันทึกหะดิษมีว่าครั้งหนึ่งมีผู้ถามท่านนบีว่าคนเราจำเป็นต้องทำความดีต่อใครให้มากที่สุด ท่านตอบว่ามารดา หลังจากนั้นจึงเป็นใคร ท่านนบีตอบว่ามารดา แล้วหลังจากนั้นคือใครเล่า ท่านนบีตอบอีกว่ามารดา หลังจากนั้นคือใคร ท่านบีตอบว่าบิดา ต้องเน้นเรื่องนี้ในเวลานี้ก็เพราะประเทศไทยในอีกไม่นานประชากรมีแนวโน้มลดลง ย้อนหลังกลับไปใน พ.ศ.2515 หญิงไทยมีอัตราการเจริญพันธุ์ที่ค่า 5.18 มา พ.ศ.2562 ลดเหลือ 1.51 เท่านั้น บทบาทการเป็นมารดาลดลงอย่างน่าห่วงจึงต้องร้องเตือนกันหน่อย เตือนกันในวันสตรีสากลนี่แหละ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *