ลองฟังกลุ่มคนไม่เชื่อในพระเจ้าวิพากษ์สังคมมุสลิม

ลองฟังกลุ่มคนไม่เชื่อในพระเจ้าวิพากษ์สังคมมุสลิม

บางครั้งฝรั่งก็ทำอะไรแปลกๆ อย่างเช่น ฝรั่งกลุ่มหนึ่งไม่เชื่อในพระเจ้า (Atheist) ตั้งทีมขึ้นมาตรวจสอบประวัติศาสตร์ที่อาจไม่ให้ความเป็นธรรมกับศาสนาหรือผู้เชื่อในพระเจ้า เป็นต้นว่าความเชื่อที่ว่าคริสต์ศาสนาคือต้นเหตุที่ทำให้ยุโรปตกอยู่ในยุคมืดนานเกือบพันปี ฝรั่งกลุ่มนี้ให้ข้อมูลใหม่ เพื่อให้ผู้ไม่เชื่อในพระเจ้าได้ข้อมูลที่ถูกต้อง หากไม่เชื่อพระเจ้าก็ควรเป็นไปด้วยเหตุผล ไม่ใช่เพราะมีอคติ บางคำถามเกี่ยวข้องกับอิสลาม อย่างเช่น เหตุใดโลกอิสลามจึงตกต่ำ หยุดนิ่ง บ่อยครั้งถดถอย ทั้งที่ก่อนหน้านั้นในยุคกลางหรือศตวรรษที่ 8-15 อิสลามเคยเป็นผู้นำในการสร้างความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คำถามนี้น่าสนใจ ผู้ตอบเป็นนักประวัติศาสตร์ชื่อ ทิม โอนีล (Tim O’neill) ให้คำตอบได้ดี สมควรที่มุสลิมจะรับฟังไว้

ทิม โอนีล ตอบว่ากลุ่มชนใดจะเป็นอย่างไรเป็นผลจากวัฒนธรรมที่แวดล้อมและหล่อหลอมกลุ่มชนนั้นขึ้นมา วัฒนธรรมในยุคเริ่มแรกของอิสลามเน้นเรื่อง الاجتهاد อิจติฮัด ความขยันหมั่นเพียร ใครก็ตามที่ขยัน บากบั่นย่อมรักในการตั้งคำถาม تحقيق ตะฮ์ฆีฆ และรักในการ التغييرات อัตตัฆยิรอต เปลี่ยนแปลง ปรับเปลี่ยน รวมทั้ง تفكر ตะฟักกูร คิดทบทวน คิดวิเคราะห์ คิดด้วยญาณทัศน์ อิสลามยุคแรกจึงเต็มไปด้วยบรรยากาศของการอภิปราย โต้แย้งด้วยหลักเหตุผล ระดมความคิด ผู้คนกล้าคิด กล้าเปลี่ยนแปลง อิสลามสอนให้คิดซ้ำไปซ้ำมาไม่เชื่อง่าย พฤติกรรมเช่นนี้นำไปสู่กระบวนการคิดที่สร้างสรรค์ กระทั่งพัฒนาความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้นมากมาย

อิสลามยุคหลัง ปรากฏว่าวัฒนธรรมอิจติฮัด ความมานะบากบั่น ขยันหมั่นเพียร ขาดหายไป บรรยากาศของสังคมถูกแทนที่ด้วยวัฒนธรรม التقليد ตัฆลีด การทำตาม การเลียนแบบ ผู้คนจำนวนไม่น้อยตั้งตนเป็นผู้รู้ ตีความศาสนาตามความเข้าใจของกลุ่มตน ผู้เรียนถูกบังคับโดยปริยายให้ปฏิบัติตามโดยขาดการคิดวิเคราะห์ คนในสังคมหยุดตั้งคำถาม ขาดความกล้าเปลี่ยนแปลง กระทั่งขาดความคิดสร้างสรรค์ ผลที่ตามมาคือสังคมมุสลิมเริ่มหยุดนิ่ง ค่อยๆถดถอย และตกต่ำลงในที่สุด ทิม โอนีล จะตอบถูกต้องหรือไม่ ยากที่จะยืนยันแต่เมื่อศึกษาคำตอบของโอนีลในประเด็นอื่นๆเห็นว่าเขาไม่มีอคติอันเป็นปณิธานที่ฝรั่งกลุ่มนี้ร่วมกันตั้งไว้ พวกเราลองฟังและนำไปคิดทบทวนย่อมได้ประโยชน์ ส่วนจะทำอย่างไรต่อไป จะไม่เชื่อ ไม่ฟัง จะนำมาทบทวนหรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับเรา