รู้จักพรีไบโอติกส์ โปรไบโอติกส์ ซินไบโอติกส์ โพสไบโอติกส์ กันหน่อย

ร่างกายมนุษย์มี 30 ล้านล้านเซลล์ เป็นที่อาศัยของจุลินทรีย์หรือจุลชีพอีกจำนวนมหาศาลถึง 39 ล้านล้านตัว จุลชีพเหล่านี้เรียกว่า “ไมโครไบโอมของมนุษย์” (Human microbiome) ใช้ร่างกายเป็นบ้าน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่ (Gut microbiome) ช่วยสร้างคุณค่าต่อชีวิตและสุขภาพเกินจินตนาการ ช่วยย่อยสารอาหารตกค้าง ทำลายแบคทีเรียและไวรัสที่เข้ามารุกราน อีกทั้งยังช่วยสร้างสารภูมิคุ้มกันให้ร่างกายได้อีกมาก จุลชีพซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นแบคทีเรียตายลงทุกวัน จำเป็นต้องมีอาหารเรียกว่า “พรีไบโอติกส์” (Prebiotics) ที่ได้รับจากภายนอกช่วยเลี้ยงดู นอกจากนี้ร่างกายยังได้รับจุลชีพเสริมจากอาหารที่เรียกว่า “โปรไบโอติกส์” (Probiotics) ทดแทนจุลชีพที่ลดลง สายพันธุ์ที่ใช้กันมานานในกระบวนการผลิตคือแบคทีเรียกรดแลคติก (LAB) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์แกรมบวก อาหารหมักดองหลายชนิดมีโปรไบโอติกส์อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ เช่น โยเกิร์ตและเคเฟอร์ (นมหรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่นม เช่น ถั่วเหลือง มะพร้าว และน้ำ) กะหล่ำปลีดอง กิมจิ ผักดอง มิโซะ ทามาริ (ถั่วเหลือง) เทมเป้ (ถั่วเหลือง) ชาหมักคอมบูชา ครีมเปรี้ยว คอทเทจชีส ชีสบ่ม โปรไบโอติกส์เมื่อผ่านเข้าสู่ร่างกาย ผ่านกระเพาะที่มีสภาพกรดรุนแรง มีค่า pH ระหว่าง 2.5 ถึง 3.5 หรืออาจต่ำได้ถึง pH 1-2 ทั้งผ่านด่างในลำไส้เล็ก โดยจุลชีพใช้เกราะที่เรียกว่าไมโครชิลด์ (Microshield) ซึ่งสร้างขึ้นเองตามธรรมชาติปกป้องตัวมัน เมื่อเดินทางถึงลำไส้ใหญ่ ไมโครชิลด์แปลงสภาพปลดปล่อยโปรไบโอติกส์ออกมาเพื่อให้อาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่ นอกจากโปรไบโอติกส์และพรีไบโอติกส์แล้ว ยังมี “ซินไบโอติกส์” (Synbiotics) ซึ่งหมายถึงส่วนผสมของโปรไบโอติกส์และพรีไบโอติกส์ ส่งผลดีต่อสุขภาพโดยเพิ่มความอยู่รอดและการทำงานของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในลำไส้ ตัวอย่างของซินไบโอติกส์ที่พัฒนาขึ้นในท้องตลาด ได้แก่ ไบฟิโดแบคทีเรีย (Bifidobacteria) ผสมอยู่กับฟรุคโตโอลิโกแซ็กคาไรด์ (FOS) แลคโตบาซิลลัสที่มี FOS หรืออินนูลินหรือกาแลคโตโอลิโกแซ็กคาไรด์ (GOS) ผสมอยู่ Lactobacillus rhamnosus GG ผสมอยู่กับอินนูลิน โพลีฟีนอล ตัวอย่างของซินไบโอติกส์คือ ยาคูลท์ (Yakult)ยังมีอีกคำหนึ่งในกลุ่มเดียวกันที่ควรรู้จักนั่นคือ “โพสไบโอติกส์” (Postbiotics) ซึ่งหมายถึงสารที่เหลือภายหลังร่างกายย่อยทั้งพรีไบโอติกส์ที่เหลือใช้และซากโปรไบโอติกส์ที่ตายลงในร่างกาย ตัวอย่างในกลุ่มนี้เป็นต้นว่าสารอาหาร เช่น วิตามิน B และ K กรดอะมิโน และสารที่เรียกว่าเปปไทด์ต้านจุลชีพ (antimicrobial peptides) ซึ่งช่วยชะลอการเติบโตของแบคทีเรียที่เป็นอันตราย รู้จักคำเหล่านี้ไว้ อีกหน่อยหากเห็นบรรดาผลิตภัณฑ์พรีไบโอติกส์ โปรไบโอติกส์ ซินไบโอติกส์ โพสไบโอติกส์ ออกมาวางจำหน่ายจะได้ไม่สับสน#ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #probiotics, #prebiotics, #synbiotics, #postbiotics

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *