รอมฎอนในภาวะโควิด-19 ระบาดรุนแรงอย่างนี้ ยังแนะนำให้ถือศีลอดกันไหม

รอมฎอนปีนี้คาดว่าจะเป็นวันที่ 13 เมษายน 2564 สิ่งที่นักวิชาการทางการแพทย์และสาธารณสุขเป็นห่วงคือผู้ถือศีลอดมีกิจกรรมที่อาจกระทบต่อการสร้างภูมิต้านทานของร่างกาย อย่างเช่น การอดอาหาร อดน้ำ การนอนไม่เพียงพอ ภาวะหิวและเครียด ที่อาจทำให้ติดเชื้อไวรัส SARS-CoV2 ที่ก่อโรคโควิด-19 ง่ายขึ้น ผู้ติดเชื้ออาจมีภาวะของโรครุนแรงขึ้น เสียชีวิตง่ายขึ้น สมควรแนะนำให้หยุดการถือศีลอดช่วงเดือนรอมฎอนปีนี้ จะดีหรือไม่ ในเมื่อโลกผ่านโควิด-19 มาแล้วหนึ่งปี ผ่านการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนมาแล้วหนึ่งครั้งช่วง ค.ศ.2020 นักวิชาการย่อมมีข้อมูลจากงานวิจัยทางการแพทย์และสาธารณสุขเพียงพอที่จะให้คำตอบหนึ่งในกลุ่มประเทศที่มีการระบาดของโควิด-19 รุนแรงคือประเทศมุสลิมในตะวันออกกลาง นักวิชาการของประเทศกลุ่มนี้รวมตัวทำการศึกษา รายงานผลการศึกษาของ ดร.โมเอซ ฟาริส (Mo’ez A-Islam E Faris) แห่งคณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยชาร์จาห์ ยูเออี และทีมงานจากมหาวิทยาลัยในอิยิปต์ บาห์เรน ซาอุดีอาระเบีย ตีพิมพ์ในวารสาร Ann Thorac Med ค.ศ.2020 ให้คำตอบไว้น่าสนใจ คำถามงานวิจัยคือการถือศีลอดเดือนรอมฎอนซึ่งนับเป็นการอดอาหารแบบไอเอฟ (Intermittent fasting) ตลอด 30 วันให้ผลอย่างไรต่อสุขภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายกรณีของโรคโควิด-19 ทีมวิจัยศึกษาข้อมูลจากงานวิจัยทั่วโลกผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ โดยตั้งคำถามไปทีละข้อ เน้นเรื่องการถือศีลอดกับผลต่อภูมิต้านทาน ดังเช่น การสร้างภูมิต้านทานผ่านสารน้ำ (Humoral immune response) และภูมิต้านทานผ่านเซลล์ (cell-mediated immune response) ที่น่าสนใจคือสารอินเตอร์ลิวคิน (inflammatory cytokine interleukin) ชนิดต่างๆ ที่มีรายงานว่าในภาวะโควิด-19 ร่างกายตอบสนองต่อการติดเชื้อมากเกินไปกระทั่งเกิด cytokine storm หรือภาวะสึนามิของสารกลุ่มนี้เป็นผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจำนวนมาก กลายเป็นว่าโควิด-19 ส่งผลให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานทำร้ายตนเอง จากรายงานวิจัยต่างๆสรุปว่าการถือศีลอดมีผลให้สารกลุ่มนี้หลายตัวลดปริมาณลงซึ่งกรณีของโควิด-19 กลับเป็นผลดีต่อการดูแลรักษาโรค กลายเป็นอย่างนั้นนอกจากนี้ยังศึกษาเรื่องการถือศีลอดกับผลที่มีต่อสภาวะการติดเชื้อ ต่อภาวะเครียดอ็อกซิเดทีฟของเซลล์ (Oxidative stress) ต่อภาวการณ์ขาดน้ำ การนอนไม่เพียงพอ ภาวะทางสังคมและศาสนาที่อาจมีผลต่อการป้องกันและการดูแลรักษาโรค ในการศึกษาครั้งนี้ไม่พบว่าการถือศีลอดให้ผลในเชิงลบต่อปัจจัยที่กล่าวถึงข้างต้น สรุปคือการถือศีลอดตลอดเดือนรอมฎอน ไม่ส่งผลเชิงลบต่อภาวะภูมิต้านทานของร่างกาย มุสลิมยังสามารถถือศีลอดได้ตามปกติ ขอเพียงได้รับอาหารและน้ำตามที่กำหนด ทั้งยังพบอีกว่าการถือศีลอดอาจให้ผลเชิงบวกจากการเคลื่อนไหวเชิงออกกำลังกายของร่างกายผ่านการละหมาดที่เพิ่มขึ้น ต่อสภาพจิตใจที่ผ่านการทำสมาธิจากการละหมาดมากขึ้น สรุปคือการถือศึลอดไม่ส่งผลเชิงลบในภาวะที่โควิด-19 กำลังระบาดอย่างรุนแรงเวลานี้ #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #รอมฎอน, #ภูมิคุ้มกัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *