ผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักชนิดไหนได้ผลบ้าง ตอนที่ 20 ทบทวนโรคอ้วน

แต่ก่อนนักโภชนาการเชื่อว่าร่างกายจ่ายพลังงานแค่ไหนก็ต้องการพลังงานเข้าไปทดแทนแค่นั้น หากได้รับพลังงานมากเกินไปพลังงานส่วนเกินจะเข้าไปสะสมในรูปไขมันทำให้เกิดโรคอ้วน นั่นคือความรู้เก่า ถึงวันนี้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคอ้วนเปลี่ยนแปลงไปแล้ว การสะสมพลังงานไม่ได้เกี่ยวข้องแค่การได้รับพลังงานมากเกินไปจากการกินเท่านั้น แต่เป็นผลมาจากการทำงานของฮอร์โมนในสมองด้วย การไปเอาชนะคะคานฤทธิ์ของฮอร์โมนไม่ใช่เรื่องง่ายจึงต้องพยายามเข้าใจการทำงานของฮอร์โมนแต่ละชนิดให้ได้อย่าปล่อยให้มันหลั่งออกมาบังคับให้เราทำโน่นทำนี่ พยายามควบคุมฮอร์โมนให้ได้น่าจะดีกว่า

สมองส่วนที่ควบคุมพฤติกรรมการกินคือ “ไฮโปธาลามัส” ซึ่งมีจุดอิ่ม (Satiety center) อยู่ หากสวิทซ์จุดอิ่มถูกปิดไว้ ร่างกายจำเป็นต้องเสาะหาอาหารเพื่อเติมพลังงานเข้าไปกระทั่งอิ่ม สวิทซ์จุดอิ่มจึงเปิดอีกครั้ง ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการปิดสวิทซ์จุดอิ่มตัวสำคัญคือ “กรีลิน” (Ghrelin) ซึ่งสร้างจากกระเพาะ ฮอร์โมนตัวนี้ทำหน้าที่ปิดสวิทซ์อิ่ม ส่วนฮอร์โมนตัวสำคัญที่ทำหน้าที่เปิดสวิทซ์จุดอิ่มคือ “เล็พติน” (Leptin) นอกจากฮอร์โมนสองตัวนี้แล้วยังมีสารเปปไทด์ที่ทำหน้าที่ฮอร์โมนอีกหลายตัว อย่างเช่น Neuropeptide Y (NPY), Melanocortins, Agouti related peptide (AGRP), Cocaine-amphetamine regulated transcript (CART), Melanin concentrating hormone (MCH), Orexine, endocannabinoids, Cholecystokinin (CCK), Peptide YY (PYY 3-36) และ Glucagon-like peptide 1 (GLP-1) เปปไทด์พวกนี้ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นการกิน เพราะชีวิตมนุษย์พัฒนาขึ้นมาจากภาวะที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนอาหาร

ฮอร์โมนตัวที่ทำหน้าที่เปิดสวิทซ์อิ่มอย่างเล็พตินจึงกลายเป็นตัวสำคัญ เช่นเดียวกับฮอร์โมนอินสุลินที่เป็นตัวเดียวที่เกี่ยวข้องกับการสลายกลูโคสให้เป็นพลังงาน และเจ้ากรรมของมนุษย์เราคือทั้งฮอร์โมนอินสุลินและเล็พตินเกิดปัญหาสภาวะดื้อได้ง่ายๆซึ่งหมายถึงร่างกายไม่ตอบสนองต่อการทำงานของฮอร์โมนทั้งสองตัว นำไปสู่โรคเบาหวานสำหรับคนที่ดื้อต่ออินสุลิน และโรคอ้วนสำหรับคนที่มีปัญหาดื้อต่อเล็พติน วิธีการป้องกันเบาหวานคือต้องคอยระวังอย่าให้เกิดภาวะดื้อต่ออินสุลิน ขณะที่การป้องกันโรคอ้วนก็ต้องระวังปัญหาอย่าให้เกิดภาวะดื้อต่อเล็พตินเช่นเดียวกัน

อาหารที่เร่งให้คนเราเกิดภาวะดื้อต่อเล็พตินง่ายที่สุดคือฟรุคโตสจากฟรุคโตสไซรัปพบในน้ำอัดลม มันฝรั่งแผ่นและอาหารขยะทั้งหลายที่เกลื่อนบ้านเกลื่อนเมืองไปหมด นอกจากนี้คือน้ำตาลทราย จะเห็นได้ว่าตัวที่ก่อปัญหาเบาหวานกับโรคอ้วนแทบจะเป็นตัวเดียวกัน หากเลี่ยงหรือลดปริมาณลงได้ก็น่าจะลดความเสี่ยงได้ทั้งสองโรค อีกประการหนึ่งที่สำคัญคือการออกกำลังกายสม่ำเสมอช่วยทำให้ภาวะดื้อต่ออินสุลินและเล็พตินดีขึ้น หากทำได้อย่างที่บอกไปๆมาๆก็ไม่จำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารให้ต้องเสียสตุ้งสตางค์เลย #drwinaidahlan#ดรวินัยดะห์ลัน#ผลิตภัณฑ์โปรตีนสูง#โรคอ้วน