ผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักชนิดไหนได้ผลบ้าง ตอนที่ 19 ทบทวนโรคอ้วน

ว่ากันด้วยผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักมา 18 ตอน ได้ข้อสรุปกันไปพอสมควรว่าการใช้ผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่งเพื่อช่วยลดโรคอ้วนอาจจะไม่ค่อยเห็นผลสักเท่าไหร่ หากจะลดได้ก็แค่ 1-2 กิโลกรัมเท่านั้น ในขณะที่น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นมีมากกว่านั้นหลายเท่า หากจะให้ได้ผลดีกว่านี้อาจจะต้องใช้ร่วมกันหลายผลิตภัณฑ์เนื่องจากปัจจัยที่สร้างปัญหาโรคอ้วนมีอยู่มากจึงจำเป็นต้องใช้สารอาหารหลายตัวช่วยกันแก้ปัญหาแยกกันไปในแต่ละปัจจัย

นอกจากนั้นยังแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่สร้างความเสี่ยงต่อโรคอ้วน เลี่ยงการกินเร็ว กินจนอิ่มแปล้ กินใกล้เวลานอน ลดปริมาณอาหารที่ให้พลังงานลง เลี่ยงอาหารพวกน้ำตาลทรายและฟรุคโตสไซรัป เลี่ยงอาหารขยะ ตลอดจนการเพิ่มกิจกรรมทางกายเพื่อให้เกิดการเผาผลาญพลังงานเข้าไปด้วย แต่ก่อนอื่นคงต้องกลับไปสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคอ้วนกันอีกครั้ง เพื่อทำให้เข้าใจตรงกันให้ได้เสียก่อน

โรคอ้วนเขาให้ดูกันที่ค่าดัชนีมวลกาย หรือน้ำหนักตัวคิดเป็นกิโลกรัมหารด้วยความสูงคิดเป็นเมตรยกกำลังสอง มีหน่วยออกมาเป็นกิโลกรัมต่อตารางเมตร หากค่าเกิน 25 ก็ถือว่าอ้วนแล้ว คนเอเชียเขาให้ใช้ค่า 23 เพราะโครงร่างของคนเอเชียเล็กกว่าคนตะวันตก คนอ้วนที่มีระดับดัชนีมวลกายเกิน 30 ถือว่าเป็นโรคอ้วน หากค่าเกิน 40 นั่นนับเป็นโรคอ้วนระดับมหากาฬ จะใช้โภชนาการกับการออกกำลังกายเพื่อลดอ้วนอาจทำไม่ไหวคงต้องใช้วิธีการผ่าตัดซึ่งได้ผลแต่สร้างปัญหาแทรกซ้อนได้ไม่รู้จบ ตั้งแต่เรื่องอาการคลื่นไส้อาเจียน กินอาหารไม่ลง รวมทั้งมีอาการป่วยเจ็บตามมา อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดที่มีอาการแทรกซ้อนก็ยังดีกว่าปล่อยไว้โดยไม่รักษาเพราะมีแต่ตายลูกเดียว ดังนั้นการดูแลตนเองไม่ให้เกิดโรคอ้วนจนถึงระดับต้องผ่าตัดน่าจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด

คนอเมริกันวันนี้มีปัญหาโรคอ้วนมากกว่าเมื่อยี่สิบปีที่แล้วมาก โรคอ้วนระดับค่าดัชนีมวลกายเกิน 40 ในวันนี้มีมากกว่าเมื่อยี่สิบปีก่อนถึง 3 เท่า อุบัติการณ์เด็กอ้วนเกิดมากขึ้นจนน่าตกใจ ปัญหามาจากขนมขบเคี้ยว และน้ำอัดลมที่อยู่ในโรงเรียนและสิ่งแวดล้อมทั้งนั้น หากจะแก้ไขก็ทำได้โดยต้องกำหนดนโยบายห้ามขายอาหารขยะและน้ำอัดลมในโรงเรียน ทั้งต้องห้ามการโฆษณาทางโทรทัศน์ที่ถล่มใส่สมองเด็กกันทุกเมื่อเชื่อวัน แต่การห้ามที่ไปขัดแย้งกับผลประโยชน์ของบริษัทข้ามชาติขนาดยักษ์อย่างนั้นทำได้ยาก สิ่งที่จะต้องทำคือ ต้องช่วยตัวเองให้มากที่สุด

ปัญหาใหญ่ของความอ้วนที่รับรู้กันในวันนี้คือขนาดพุง ผู้ชายไทยที่มีพุงใหญ่กว่า 36 นิ้ว ผู้หญิงที่มีขนาดพุงใหญ่กว่า 32 นิ้วถือว่าเป็นความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเมแทบอลิกหรือนักวิชาการเมืองไทยหลายคนเรียกว่าโรคอ้วนลงพุง เป็นปัญหาทั้งชายทั้งหญิง หากเกิดร่วมกับอาการอีกสองอย่าง ได้แก่ ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง หรือแอลดีแอลในเลือดสูง หรือเอชดีแอลในเลือดต่ำ หรือน้ำตาลในเลือดสูงหรือความดันโลหิตสูง นั่นก็ถือว่าเป็นโรคเมแทบอลิกแล้ว หากไม่รีบแก้ไข มีสิทธิอายุสั้นได้แน่นอน #drwinaidahlan#ดรวินัยดะห์ลัน#โรคอ้วน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *