ประวัติศาสตร์สนุก: แลกเกาะรันกับแมนฮัตตัน

เกาะแมนฮัตตัน (Manhattan) คือที่ตั้งของมหานครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา เกาะมีความยาว 21.6 กิโลเมตร กว้าง 3.7 กิโลเมตร ประชากรในวันนี้ 1.6 ล้านคน มูลค่าเฉพาะที่ดินของเกาะแมนฮัตตันใน ค.ศ.2020 คือ 1.74 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หากเทียบกับอีกเกาะหนึ่งในประเทศอินโดนีเซียคือเกาะรัน (Run) ของหมู่เกาะโมลุกกะ ทะเลบันดา ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางตะวันออกของเกาะแมนฮัตตัน 15,344 กิโลเมตร เกาะนี้ยาว 3 กิโลเมตร กว้าง 1 กิโลเมตร มีประชากร 2 พันคน มูลค่าที่ดินของเกาะรันในวันนี้แทบไม่มีราคาเทียบไม่ได้เลยกับเกาะแมนฮัตตันแต่เชื่อหรือไม่ว่าเมื่อ 353 ปีมาแล้ว ใน ค.ศ.1667 รัฐบาลดัทช์หรือเนเธอร์แลนด์ซึ่งเป็นเจ้าของเกาะแมนฮัตตันในเวลานั้นขอแลกเกาะแมนฮัตตันกับเกาะรันที่อังกฤษครอบครองอยู่ชนิดเกาะต่อเกาะ

ดัทช์เมื่อเกือบ 400 ปีมาแล้วผูกขาดการค้าเครื่องเทศ (spices) ซึ่งเวลานั้นมีมูลค่ามากกว่าทองคำนับพันเท่า เครื่องเทศปลูกกันในหมู่เกาะโมลุกกะซึ่งเป็นของดัทช์ในฐานะเจ้าอาณานิคมแต่เจ้ากรรมที่หนึ่งในหมู่เกาะโมลุกกะคือเกาะเล็กๆชื่อรัน มีอังกฤษครอบครองอยู่ ในเมื่อดัทช์ต้องการผูกขาดการค้าเครื่องเทศจึงจำเป็นต้องไล่อังกฤษออกไป ทั้งสองชาติทำสงครามกันสองครั้ง ทั้งในหมูเกาะโมลุกกะและในดินแดนโลกใหม่คืออเมริกา สุดท้ายเจรจากันนำไปสู่ข้อตกลงเบรดา (Treaty of Breda) แลกเปลี่ยนเกาะทั้งสองกันตามที่บอก แต่เรื่องยังไม่จบ

อังกฤษเปลี่ยนชื่อเมืองบนเกาะแมนฮัตตันจากนิวอัมสเตอร์ดัมเป็นนิวยอร์ค ระหว่างครอบครองเกาะรัน อังกฤษนำเมล็ดจันทร์เทศและเครื่องเทศอื่นๆไปเพาะปลูกในอาณานิคมอื่นๆของอังกฤษ ได้แก่ ศรีลังกา ปีนัง ทำลายการผูกขาดการค้าเครื่องเทศในมือของดัทช์ได้สำเร็จ ส่งผลให้ราคาเครื่องเทศหล่นลงมาเป็นติดจรวด

อังกฤษทำในลักษณะเดียวกันในกรณีการค้าใบชา (tea) ซึ่งจีนผูกขาดอยู่ถึงขนาดทำสงครามห้ำหั่นกันระหว่างอังกฤษกับจีนสองครั้งสองครากระทั่งจีนต้องยอมให้อังกฤษเช่าเกาะฮ่องกงนาน 99 ปี ในเวลานั้นเองอังกฤษลักลอบนำพันธุ์ชาจากจีนไปปลูกที่ศรีลังกาและอินเดีย ทำให้ราคาใบชาหล่นลงฮวบฮาบในภายหลัง เรื่องราวลักษณะเดียวกันยังเกิดขึ้นในกรณีน้ำมันปิโตรเลียมกับตะวันออกกลาง ที่สุดท้ายผลประโยชน์ไปตกอยู่กับบริษัทน้ำมันอังกฤษและอเมริกัน ประวัติศาสตร์ในอดีต 400 ปีเป็นอย่างไร ย่อมซ้ำรอยเดิมของมันเสมอกระทั่งถึงวันนี้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *