นาฬิกาชีวิตกับวิทยาศาสตร์การละหมาด

การละหมาดเป็นกิจกรรมการเคลื่อนไหวของร่างกายควบคู่ไปกับการกำหนดจิตด้านสมาธิและการจดจำ ในการละหมาดมีเวลาของช่วงวันเข้ามาเป็นปัจจัย ความสัมพันธ์ของนาฬิกาชีวิตที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะจึงเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในที่นี้จะขอแนะนำให้รู้จัก “นาฬิกาชีวิต” (Biological clock) กันสักหน่อย นาฬิกาชีวิตอยู่ในสมองตรงจุด Supraoptic Nucleaus (SON) ในส่วน “ไฮโปธาลามัส” ลองเอานิ้วชี้มือซ้ายจี้ไปที่ขมับซ้ายสร้างเส้นตรงไปยังขมับขวา แล้วใช้นิ้วชี้มือขวาจี้ไปที่หว่างคิ้วสร้างเส้นตรงลากไปยังท้ายทอย จุดตัดของเส้นทั้งสองในสมองนั่นแหละคือจุดที่ SON ตั้งอยู่ SON ทำหน้าที่ควบคุมการหลั่งของฮอร์โมนหลายตัวที่ควบคุมการทำงานของต่อมที่ควบคุมอวัยวะภายในอีกทีหนึ่ง ลองมาดูความสัมพันธ์ระหว่างนาฬิกาชีวิตกับการละหมาดอธิบายตามหลักแพทย์แผนตะวันออกผสมผสานกับแผนตะวันตกกันบ้าง ช่วงเวลา 03.00-05.00 น.ก่อนเช้า นาฬิกาชีวิตกำหนดให้เป็นช่วงเวลาที่ปอดทำงานดีที่สุด การตื่นมาสูดอากาศบริสุทธิ์ในช่วงนี้ ปอดจะแข็งแรงสามารถทำงานได้ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย มุสลิมหรือผู้นับถือศาสนาอิสลามตื่นขึ้นทำละหมาดเช้าที่เรียกว่า “ซุบฮิ” โดยใช้เวลาสั้นๆ ซึ่งนับเป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อผ่อนจิตช่วยให้ปอดได้บริหารก่อนเช้าตรู่ จากนั้นถึงเวลา 11.00-13.00 น. เป็นช่วงที่หัวใจทำงานหนัก ควรกำหนดให้ร่างกายและจิตใจได้พัก ทำสมองให้ปลอดโปร่ง ไม่เครียด มุสลิมทำจิตให้เข้าถึงญาน ผ่อนกายผ่อนจิตด้วยการละหมาดยาวหน่อยเพื่อให้หัวใจผ่อนคลาย การละหมาดช่วงเวลานี้เรียกว่า “ดุฮฺริ” จึงช่วยเสริมสุขภาพกายและจิตใจได้มากเข้าเวลา 15.00-17.00 น. นาฬิกาชีวิตวนลงไปอยู่ที่กระเพาะปัสสาวะ แนะนำให้ผ่อนกายผ่อนจิตในช่วงเวลานี้เพื่ออุ่นร่างกาย อิสลามกำหนดให้ละหมาดที่เรียกกันว่าละหมาดบ่ายหรือ “อัศริ” ใช้เวลาพอสมควร เกิดการผ่อนจิตผ่อนกายกันอีกครั้ง พลังงานที่ร่างกายปลดปล่อยออกมาจากกลไกภายในจะถูกนำไปใช้ในการละหมาดทำให้สุขภาพดีขึ้น เข้าเวลาระหว่าง 17.00-19.00 น. เป็นช่วงเวลาของไต ควรทำตัวให้สดชื่น การเดินพักผ่อนตอนเย็นช่วยให้ไตได้พัก การทำงานเชื่อมโยงระหว่างไตกับสมองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพในช่วงเวลานี้ มุสลิมกำหนดให้ละหมาดเย็นที่เรียกว่า “มัฆริบ” ไม่ยาวไม่สั้นนัก ช่วยให้สมองปลอดโปร่ง ถึงเวลา 19-21 น. เป็นช่วงการทำงานของเยื่อหุ้มหัวใจ เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดอีกช่วงหนึ่งสำหรับการทำสมาธิ มุสลิมทำละหมาดค่ำหรือ “อิซา” ช่วยทำให้มีสุขภาพจิตและสุขภาพกายที่ดียิ่งขึ้นไปอีก ละหมาดครบห้าครั้งในรอบวัน ไปแล้ว ถึงเวลา 21-23 น.เป็นช่วงเวลาของระบบพลังงานในร่างกาย เวลานี้คนส่วนใหญ่ใช้เวลาพักผ่อน บางคนอาจตื่นขึ้นกลางดึกไม่ว่าจะเป็นเพราะเคยชินหรือนอนไม่หลับหรือพลังงานในร่างกายไม่ปกติก็ตามแต่ อิสลามแนะนำโดยไม่บังคับให้ละหมาดดึกที่เรียกว่า “ตะฮัจญุด” ใช้เวลายาวสักหน่อยโดยทำสมาธิควบคู่ไปด้วยเพื่อผ่อนจิตผ่อนกายจากนั้นจึงเข้านอนอีกครั้งซึ่งช่วยให้หลับได้ดี การละหมาดในแต่ละช่วงเวลานอกจากจะสอนให้รำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้าเข้าใจความสำคัญของเวลาแล้วยังช่วยยืดอายุขัยให้ยืนยาวขึ้นได้อีก #ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #ละหมาดกับนาฬิกาชีวิต

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *