ทำอุมเราะฮฺในวันแรก

เพื่อนจำนวนมากในเฟซบุ้คของผมไม่ใช่มุสลิมจึงขอเล่าเรื่องฮัจญฺกับอุมเราะฮฺสักหน่อย ฮัจญฺ (الحج Hajj) คือการแสวงบุญไปยังนครมักกะฮฺหรือเมกกะในซาอุดีอาระเบีย เป็นหลักศรัทธาใหญ่ (รุก่น) หนึ่งในห้าที่มุสลิมที่เป็นผู้ใหญ่ต้องปฏิบัติให้ได้อย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต หากไม่สามารถปฏิบัติได้ด้วยปัญหาจำเป็นก็ไม่เป็นปัญหา ฮัจญฺปฏิบัติกัน 5 วันในเดือนซุลฮิจญะฮฺซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ตามปฏิทินอาหรับ คือวันที่ 8, 9, 10, 11, 12 โดยอาจเพิ่มวันที่ 13 ไปด้วยเป็น 6 วันแต่ไม่สำคัญเท่า 5 วันแรก ทุกปีมีมุสลิมทั่วโลกไปร่วมพิธีฮัจญฺประมาณ 2 ล้านคน จะมากไปกว่านี้สถานที่อาจรองรับไม่ไหว ดูเหมือนรัฐบาลซาอุดีอาระเบียพยายามบริหารจัดการอยู่ซึ่งไม่ง่ายนักอีกพิธีหนึ่งที่มุสลิมปฏิบัติกันมากคือ “อุมเราะฮฺ” (العمرة umrah) คือการเยี่ยมสถานที่ที่มีผู้คน เป็นงานจาริกแสวงบุญที่นครมักกะฮฺ ปฏิบัติพิธีเพียงวันเดียว ซึ่งไม่บังคับ แต่สำคัญสำหรับมุสลิมโดยเฉพาะคนที่เดินทางไปฮัจญฺอยู่แล้วก็ใช้โอกาสทำอุมเราะฮฺไปด้วยเพราะเป็นสถานที่เดียวกันคือมัสยิดใหญ่หะรอมในมักกะฮฺ โดยอุมเราะฮฺสามารถปฏิบัติในเดือนใดก็ได้ นิยมมากที่สุดคือช่วงเดือนรอมฎอนหรือเดือนเก้าและอีกสองเดือนตามปฏิทินอาหรับคือเดือนรอญับและเดือนชะอฺบานหรือเดือนเจ็ดและเดือนแปดผมและภรรยาปฏิบัติอุมเราะฮฺเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อวันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน 2566 ผู้คนในมัสยิดหะรอมมีจำนวนมหาศาล มีหลักปฏิบัติอยู่ 4 ประการคือ (1) ครองผ้าเอียะฮฺรอมหรือผ้าขาวที่ไม่มีการเย็บตะเข็บสองผืน หญิงคือแต่งกายมิดชิดพร้อมกับการตั้งจิตหรือเนียต (2) การตอวาฟหรือเดินวนซ้ายรอบวิหารกะฮฺบะอฺ 7 รอบ (3) การเดินสะแอระหว่างเนินเขาสองลูกซึ่งอยู่ห่างกัน 450 เมตร 7 เที่ยว (4) การตะฮัลลุลหรือโกนหรือตัดผม เป็นอันจบพิธี โดยเป็นพิธีที่ทำกันในมัสยิดหะรอมของมักกะฮฺ ทำครึ่งวันก็เสร็จจากโรงแรมนาร์ซิสสัสที่เจดดะฮฺเราอาบน้ำ อาบน้ำละหมาดและครองผ้าเอียะฮฺรอมเดินทางเข้ามักกะฮฺช่วงบ่าย นั่งรถบัสมีกันแปดคนเท่านั้น เข้าใกล้มัสยิดหะรอมแล้ว รถราติดขนัด ผู้คนเดินกันแน่นถนน รถบัสทิ้งเราใต้ดินใกล้มัสยิดหะรอม เจ้าหน้าที่ขอเพียงเบอร์โทรและ whatsapp เราไว้ จากนั้นปล่อยผมและภรรยาทำพิธีอุมเราะฮฺโดยลำพัง นัดเจอกันอีกครั้งตอน 21.30 น. ผู้คนหนาแน่นมากทั้งในมัสยิดหะรอมและลานรอบมัสยิด คาดว่ามีเป็นจำนวนหลายแสนคน แต่ผมและภรรยาก็ทำพิธีกันจนเสร็จก่อนสองทุ่ม จากนั้นจึงพยายามหาที่นั่งพักเพื่อรอเวลาโดยต้องนั่งบนบันไดทางลงไปที่ Bus station ใกล้ห้องน้ำชายหมายเลข 8 พยายามไม่เดินออกไปนอกเขต หากออกไปแล้วไม่สามารถกลับมาได้อีกระหว่างนั่งพัก หนุ่มอียิปต์คนหนึ่งแบ่งขนมมาให้ เป็นบรรยากาศที่น่ารักมากยามที่ผู้คนแน่นขนัดอย่างนั้น ผมปฏิเสธไปโดยขอบคุณเขา ถึงสองทุ่มทางเจ้าหน้าที่รถบัสจึงติดต่อมาก่อนเวลาทาง whatsapp คนไทยใช้ line กันเป็นหลัก คนต่างชาติไม่รู้จัก line แต่จะใช้ whatsapp ซึ่งสะดวกกว่าเพราะใช้เบอร์โทรศัพท์ เขาส่งรูปมาว่าให้ไปพบกันที่หน้าห้องน้ำหญิงหมายเลข 4 เราใช้ห้องน้ำเป็นจุดนัดพบ เพราะมีขนาดใหญ่และทำป้ายไว้ใหญ่โต แต่ก็หาไม่ง่ายนัก ดีที่สุดคือถามพนักงานทำความสะอาดที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก รู้จักสถานที่เป็นอย่างดี อย่าไปถามเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหารซึ่งมักเป็นคนมาจากด้านนอกเมือง สลับสับเปลี่ยนกันมา ห้องน้ำหมายเลข 4 หาไม่ยาก แต่การเดินไปให้ถึงที่นั้นลำบากชนิดสาหัส คนแน่นมากและยังมีกระแสคนเดินตัดไปมา เบียดกันชนิดไหล่ชนไหล่ ผมห่วงที่สุดคือพลัดหลงกับภรรยา ผมเองไม่มีปัญหาแต่กับภรรยานี่คือครั้งแรกของเธอในมักกะฮฺสุดท้ายเราเจอกันจนได้กับเจ้าหน้าที่รถบัส ซึ่งพาเราไปยังสถานที่จอดรถซึ่งอยู่ด้านนอกมัสยิด คราวนี้เราประสบปัญหาหนักกว่าเก่าเพราะเข้าเวลาละหมาดอีซา ผู้คนยืนละหมาดกันเต็มทุกพื้นที่ เดินตัดพื้นที่ละหมาดไปชนิดยากเย็นแสนเข็ญ เป็นประสบการณ์ที่ยากจะลืมเลือน สาหัสขนาดไหนในที่สุดเราก็ฝ่ามาจนถึงรถ ต้องเดินขึ้นเนิน ปวดขากันพอใช้ มาถึงแล้วใช้เวลารอหนุ่มจากอินโดนีเซียสองคนนานกว่าครึ่งชั่วโมง ไม่รู้ว่าไปพลัดหลงถึงไหน เจอกันครบทุกคนบนรถแล้ว การฝ่าจราจรจนออกมานอกเมืองยังคงสาหัส กว่าจะกลับถึงโรงแรมที่อยู่ห่างจากมักกะฮฺ 85 กิโลเมตรก็กว่าห้าทุ่ม ถึงจะสาหัสแต่ความเป็นคนกรุงเทพฯ ผมเองไม่รู้สึกอะไรสักเท่าไหร่ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปถึงบ้านที่อ่อนนุชห่างกันแค่ 17 กิโลเมตร ใช้เวลากับการจราจรนานสามชั่วโมงก็เคยเจอมาแล้ว #ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #อุมเราะฮฺ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *