ทำบุญเดือนรอมฎอน

เพื่อนที่มิใช่มุสลิมถามกันเข้ามาเรื่องการทำบุญในเดือนรอมฎอน จึงขอตอบไว้ตรงนี้ ทำบุญแรกคือการทำบุญเลี้ยงละศีลอดสำหรับคนทั่วไปที่มัสยิด เพื่อนมุสลิมต่างชาติถึงขนาดแปลกใจที่เห็นมุสลิมไทยนิยมทำบุญละศีลอดซึ่งเกิดขึ้นแทบทุกมัสยิด น่าเสียดายที่รอมฎอนปีนี้ (2564) เป็นปีที่สองแล้วที่มุสลิมในบ้านเราอดทำบุญเลี้ยงละศีลอดเนื่องจากปัญหาโรคระบาด อย่างไรก็ตาม ยังไม่อดทำบุญกับเด็กกำพร้า คนยากจน คนอนาถา คนที่หิวโหย คนเดินทาง ฯลฯ มุสลิมจึงยังทำบุญเดือนรอมฎอนกันอยู่ เป็นเดือนบุญว่ากันอย่างนั้น อีกทำบุญหนึ่งเป็นหลักการในอิสลามคือการบริจาคทานที่เรียกว่า “ซะกาต” ซึ่งบังคับแก่มุสลิมทุกคนโดยให้ผู้ที่มีรายได้เหนือรายจ่ายในปีนั้นๆบริจาคทานประมาณร้อยละ 2.2-2.5 ของรายได้เหลือจ่าย การบริจาคทานซะกาตทำกันได้ทั้งปี แต่นิยมทำกันในเดือนรอมฎอน โดยจ่ายให้กับคนแปดประเภท ได้แก่ (1) คนยากจน (2) คนที่อัตคัดขัดสน (3) คนที่มีหัวใจโน้มมาสู่อิสลาม (4) ผู้บริหารการจัดเก็บและการจ่ายซะกาต (5) การไถ่ถอนทาส (6) ผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว (7) คนพลัดถิ่นหลงทาง สุดท้ายคือใช้ในหนทางของพระผู้เป็นเจ้า ทุกวันนี้สะดวกหน่อยตรงที่มีหลายหน่วยงานการกุศลเข้ามาช่วยบริหารจัดการให้ นอกจากนี้ยังมีการทำบุญทดแทนการถือศีลอดเนื่องจากไม่สามารถถือศีลอดในปีนั้นได้จากการป่วยเรื้อรัง ชราภาพกระทั่งถือศีลอดไม่ไหว หรือตั้งครรภ์และให้นมบุตรกระทั่งไม่สามารถถือศีลอดหรือเหตุผลอื่นๆ จำเป็นต้องทำบุญทดแทนให้กับคนยากจนและคนอนาถาโดยทำเป็นอาหารหลักอย่างเช่นข้าวสารที่เรียกกันว่า “ฟิดยะฮ์” ใช้ทุนเท่ากับข้าวสารประมาณ 600 กรัมสำหรับแต่ละวันถือศีลอดที่ขาดไป หากไม่จ่ายทานฟิดยะฮ์ต้องหาทางถือศีลอดที่ขาดไปให้ได้หลังเดือนรอมฎอนโดยไม่ให้เกินปีนั้น สุดท้ายคือการบริจาคทานซะกาตพิเศษเพื่อสร้างความสมบูรณ์ให้กับการถือศีลอดเนื่องจากบ่อยครั้งถือศีลอดได้ไม่ดีนัก ขาดเล็กๆน้อยๆ ศาสนาจึงกำหนดให้บริจาคทานซะกาตที่เรียกกันว่า “ซะกาตฟิตเราะฮ์” แจกจ่ายให้กับคนยากจน คนอนาถา เป็นการทดแทนโดยบริจาคเป็นอาหารหลักเช่นข้าวประมาณสามลิตรหรือบริจาคเป็นเงินในราคาเท่ากับข้าวสามลิตรก็ได้ก่อนสิ้นสุดรอมฎอนปีนั้นๆ ทั้งหมดเป็นข้อมูลคร่าวๆสำหรับเพื่อนๆที่อยากรู้จักมุสลิมให้มากขึ้น #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #ทำบุญเดือนรอมฎอน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *