ดมไขมัน

เจอคำถามด้านสุขภาพอยู่บ่อย อย่างเช่นการแก้ปัญหาโรคอ้วน โรคเบาหวาน ที่ง่ายที่สุดต้องทำอย่างไร คำตอบที่ให้ไปง่ายเช่นเดียวกันว่าให้ใช้วิธีดูแลเรื่องอาหารการกินโดยต้องระวังให้ได้คือเรื่องอาหารหวานโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องลดการบริโภคน้ำตาลทรายกับน้ำตาลพวกไซรัปฟรุคโตสที่นิยมเติมในน้ำอัดลมกับอาหารขยะทั้งหลาย หากระวังแป้งระวังน้ำตาลได้ย่อมช่วยได้มาก อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องระวังคือการบริโภคไขมันวิธีลดน้ำตาลว่ากันตามตรงคงทำได้ไม่ยากเท่าไหร่เพราะน้ำตาลมีรสหวาน สังเกตได้ง่ายๆ ชิมดูก็รู้ ขณะที่ไขมันหากอยู่ในรูปของไขมันมองเห็นได้ไม่ยาก หากเป็นไขมันที่ซ่อนมากับอาหาร ไขมันกลุ่มนี้ตรวจสอบได้ยาก คำถามคือจะรู้ได้อย่างไรว่าอาหารชนิดไหนมีไขมันซ่อนอยู่มาก ชนิดไหนมีไขมันซ่อนอยู่น้อย คำตอบทีเล่นทีจริงแต่มีเหตุผลเชิงวิชาการรองรับคือหากมองไม่เห็นก็ให้ใช้ “วิธีดม” เรื่องนี้มีผู้นำไปทำการศึกษาวิจัยกันแล้วไขมันมีกลิ่นเฉพาะตัว มีมากหรือน้อยสามารถใช้วิธีดมได้ง่ายๆ เรื่องนี้เป็นงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร PLOS ONE ต้น ค.ศ. 2014 นักวิจัยชื่อโจฮัน ลุนด์สตรอม (Johan Lundström) แห่ง Monell Center เขาเตรียมนมที่มีความเข้มข้นของไขมันต่างๆกัน จากนั้นลองให้อาสาสมัครดมนมที่เตรียมไว้ ปรากฏว่าอาสาสมัครสามารถบอกได้ว่านมแก้วไหนมีไขมันมากที่สุด แก้วไหนมีไขมันน้อยที่สุด แก้วไหนมีไขมันเท่ากับแก้วไหน แก้วไหนมีไขมันแตกต่างจากแก้วอื่น เอาเป็นว่าตอบถูกแทบทุกครั้ง เหตุที่ให้ดมนมก็เพราะนมมีไขมันและไขมันนั้นมีกลิ่นจำเพาะนมสดทั่วไปมีไขมัน 4% นมพร่องมันเนยมีไขมัน 2% นมขาดมันเนยมีไขมัน 0.5% ส่วนในการทดลองของ ดร.ลุนด์สตรอม เขาใช้นมสามชนิดที่มีไขมัน 0.125%, 1.4% และ 2.7% แล้วให้คนลองดมดู การทดลองนี้ศึกษาในคนต่างเชื้อชาติกันด้วยซ้ำ พบว่าไม่ว่าจะเป็นคนอเมริกันหรือคนดัชท์ ไม่ว่าจะเป็นคนน้ำหนักตัวปกติ หรือเป็นคนอ้วน ทั้งยังนำเอาคนที่อาศัยอยู่ในคนละวัฒนธรรม คนละสิ่งแวดล้อมมาเปรียบเทียบกัน การดมกลิ่นนมดูเหมือนอาสาสมัครส่วนใหญ่จะตอบได้ถูกเกือบหมดว่าแก้วไหนมีไขมันมากกว่าแก้วไหน แก้วไหนมีไขมันหรือแก้วไหนไม่มี ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อไขมันมีโมเลกุลขนาดใหญ่ย่อมไม่มีทางที่จะระเหยหรือระเหิดออกไปได้ คำถามคือก็แล้วไขมันมีกลิ่นได้อย่างไร เรื่องนี้นักวิจัยเองยังตอบไม่ได้ว่าเป็นกลิ่นของไขมันเกิดจากโมเลกุลตัวไหน หรือเป็นกลิ่นจากอนุพันธุ์ตัวเล็กๆที่เกิดจากการย่อยสลายนม นักวิทยาศาสตร์ยังไม่รู้ รู้เพียงว่าเมื่อดมแล้วพอจะทราบได้ว่ามีไขมันสูงหรือเปล่า งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์บางครั้งก็มีเรื่องแปลกๆอย่างนี้ให้ได้ทึ่งเหมือนกัน #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน#ดมไขมัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *