ชื่อใครว่าไม่สำคัญ บทเรียนจากศึกวอเตอร์ลู

บรรดาผู้สนใจประวัติศาสตร์ยุโรป แทบไม่มีใครไม่รู้จัก “วอเตอร์ลู” (Waterloo) เพราะเป็นชื่อสมรภูมิสุดท้ายระหว่างจักรพรรดินโปเลียน (Napoleon) แห่งฝรั่งเศสกับดยุคออฟเวลลิงตัน (Duke of Wellington) แม่ทัพอังกฤษซึ่งมีทัพปรัสเซีย (เยอรมัน) สนับสนุน การศึกเกิดขึ้นในวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ.1815 ผลของการรบคือนโปเลียนพ่ายแพ้ยับเยินเป็นอันสิ้นสุดยุคสมัยนโปเลียน จบสิ้นจักรวรรดิฝรั่งเศส ถือเป็นการเปลี่ยนประวัติศาสตร์โลก นับจากนั้น อังกฤษกลายเป็นมหาอำนาจเดี่ยวออกล่าอาณานิคมไปทั่วโลก แถมชักชวนชาติยุโรปอื่นๆ ทั้งฝรั่งเศสหลังยุคนโปเลียน เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม เยอรมัน อิตาลี สเปน ปอร์ตุเกส ออกล่าอาณานิคมไปพร้อมกัน ก่อนหน้านั้นกลุ่มชาติยุโรปออกล่าอาณานิคมได้มากแล้ว ทว่านับจาก ค.ศ.1815 เป็นต้นมาออกล่าหนักขึ้น สยามของเราเกือบเสียท่าช่วงเวลานั้น ได้พระอัจฉริยภาพของรัชกาลที่ 5 กับเงินถุงแดงของรัชกาลที่ 3 จึงรอดพ้นปากเหยี่ยวปากกาเป็นอิสระมาได้ หาไม่แล้วเราคงมีชะตากรรมไม่ต่างจากอินเดีย มลายู อินโดนีเซีย ศรีลังกา พม่า ลาว เขมร เวียตนาม ฯลฯการศึกที่วอเตอร์ลูน่าสนใจกับกลยุทธของเวลลิงตัน เมื่อรู้ว่าต้องปกป้องเมืองบรัสเซลส์ในภาคพื้นยุโรป และต้องรบกับนโปเลียนที่เก่งกาจ สิ่งแรกที่เวลลิงตันทำคือสำรวจพื้นที่ที่จะใช้เป็นสมรภูมิ เวลลิงตันเป็นคนละเอียดรอบคอบ มั่นใจตนเองสูง แม้ทหารอังกฤษที่นำมารบครั้งนั้นเป็นทหารใหม่ชาวสก็อตช์ที่ขาดประสบการณ์ แต่เวลลิงตันเชื่อมั่นว่ากลยุทธจตุรัสสีแดง (red square) ของตนเองสร้างกำแพงทหารราบเสื้อแดงอังกฤษได้รวดเร็วสามารถยันทัพม้าเลื่องชื่อของนายพลเนย์แห่งฝรั่งเศสได้ ทั้งรู้ด้วยว่าการศึกครั้งนี้จะถูกบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ไปชั่วลูกชั่วหลานวอเตอร์ลู (Waterloo) เป็นชื่อในภาษาเฟลมิชอ่านว่าวาเตอร์โล แปลว่าป่าพรุ เป็นชื่อหมู่บ้านทางตอนใต้เมืองบรัสเซลส์ของเบลเยี่ยม (เวลานั้นเป็นดินแดนของดัทช์) ตั้งอยู่ในพื้นที่ของคนพูดภาษาเฟลมิชกลุ่มภาษาดัทช์ ใกล้เขตแดนคนพูดภาษาวอลลองกลุ่มภาษาฝรั่งเศส คนวอลลองเรียกหมู่บ้านวาเตอร์โลว่า “มองต์แซงจอง (Mont St Jean) เวลลิงตันเลือกหมู่บ้านนี้เนื่องจากมีชื่อที่อ่านเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า “วอเตอร์ลู” คนอังกฤษจดจำได้ง่าย หมู่บ้านอื่นแถบนั้นชื่อเป็นเฟลมิช อ่านยากจำยาก ใช้วอเตอร์ลูนี่แหละเป็นสมรภูมิ โดยสำรวจพื้นที่ครึ่งวันก่อนออกแบบกลยุทธในการรบผลของการรบ เวลลิงตันชนะ สามารถร่วมกับทัพปรัสเซียทำลายทัพนโปเลียนได้ หลังจากนั้นผู้คนจดจำชื่อ “วอเตอร์ลู” ได้ดี เป็นเพราะเวลลิงตันเตรียมการเรื่องชื่อไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว ชื่อเพื่อการจดจำจึงเป็นสิ่งสำคัญในกลยุทธการตลาดเช่นทุกวันนี้ เวลลิงตันใช้กลยุทธนี้มาสองร้อยปีแล้ว ใครว่าชื่อไม่สำคัญ ใน พ.ศ.2555 ผมใช้กลยุทธเรื่องชื่อในการหาพื้นที่ตั้งสำนักงานศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล สำนักงานเชียงใหม่ มีคนเลือกสำนักงานไว้แล้ว แต่ชื่อสถานที่ไม่เหมาะนัก ผมจึงขอเปลี่ยนกระทั่งได้สถานที่ใหม่อยู่ที่ถนนเจริญประเทศ ตั้งสำนักงานมาจนถึงทุกวันนี้ #ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #วอเตอร์ลู, #ชื่อใครว่าไม่สำคัญ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *