“ชา” จากวัฒนธรรมสู่สุขภาพ ตอนที่ 16 บทสรุป

ประโยชน์อีกด้านหนึ่งที่เริ่มเป็นที่กล่าวถึง คือรายงานข่าวที่ว่าการดื่มชาเป็นประจำโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาเขียวนอกจากจะช่วยป้องกันมะเร็งและโรคหัวใจดังที่เคยมีรายงานข่าวแล้วยังอาจช่วยทำให้กระดูกแข็งแรงขึ้นได้อีกโดยมีการกล่าวถึงงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของแพทย์สองคนชื่อชิซิงหวู่กับชิเจนฉางแห่งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งชาติเชงกุงในเกาะไต้หวัน ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ the Archives of Internal Medicine ของสมาคมแพทย์อเมริกันในปี ค.ศ.2002

แพทย์ทั้งสองทำการศึกษาโดยวัดมวลกระดูกของชาย 497 คน และหญิง 540 คน อายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปที่ดื่มชาเป็นประจำ มีทั้งชาเขียว ชาอู่หลงและชาดำแบบตะวันตก ได้ผลออกมาว่ามวลกระดูกหลายตำแหน่งของคนกลุ่มนี้มีค่าสูงกว่าคนที่ไม่ได้ดื่มชา ซึ่งหมายความคนกลุ่มที่ดื่มชาเป็นประจำมีกระดูกที่แข็งแรงกว่า คณะผู้วิจัยให้เหตุผลว่าในชามีสารเคมีตัวเล็กๆกว่า 4,000 ชนิด หลายชนิดเป็นฟลาโวนอยด์ที่ให้ผลดีต่อการสะสมมวลกระดูก นอกจากนี้ยังพบสารฟลูออไรด์ที่ช่วยบำรุงกระดูกและฟันอยู่ด้วย

ในบทสรุปเห็นได้ว่าชาเริ่มต้นจากประเทศจีนและเผยแพร่ไปทั่วโลกกลายเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่งในปัจจุบัน ประเพณีการดื่มชาที่ถูกถ่ายทอดไปสู่กลุ่มชนมากมายหลายกลุ่มทำให้เกิดชาประเภทต่างๆขึ้นมากกว่า 3 พันชนิดทั่วโลก มีทั้งชาดำ ชาแดง ชาขาว ชาเขียว ชาอู่หลง ปรับแต่งให้มีรสชาติต่างๆมากมาย ทั้งชาจืด ชาเค็ม ชาหวาน ชามัน ชาเปรี้ยว ชารสสมุนไพร ชานม ชาร้อน ชาเย็น ชนชาติที่มีอิทธิพลต่อการดัดแปลงปรับปรุงชามากที่สุดนอกเหนือจากชาวจีนคือชนชาติที่พูดภาษาอังกฤษทั้งอังกฤษและสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ชนชาติยุโรปหลายชนชาติต่างเคยเข้ามามีอิทธิพลต่อการค้าขายชาทั้งสิ้น

ในส่วนผลของชาต่อสุขภาพขอนำงานวิจัยในลักษณะ Metaanalysis จากงานการศึกษา 96 ชิ้นทั่วโลกที่รายงานโดย Yi M และคณะจาก West China Hospital, มหาวิทยาลัยเสฉวน นครเฉินตู ประเทศจีนตีพิมพ์ในวารสาร Mol Nutr Food Res เดือนสิงหาคม 2019 ซึ่งสรุปไว้น่าสนใจดังนี้ว่าการดื่มชาเป็นประจำไม่ว่าจะเป็นชาชนิดไหนหากดื่ม 2-3 ถ้วยต่อวันช่วยลดอัตราการเสียชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากโรคหลอดเลือดทั้งหัวใจและสมอง ลดโรคเบาหวาน อย่างไรก็ตาม ชาร้อนที่อุณหภูมิสูงกว่า 55-60 องศา พบว่าก่อความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งกระเพาะอาหารและหลอดอาหาร จึงต้องระวังไว้ นอกจากนี้การดื่มชาจำเป็นจะต้องระมัดระวังสารกาเฟอีนในชา ซึ่งมีคุณสมบัติในการกระตุ้นการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต และเพิ่มอัตราเมแทบอลิก ช่วยขับปัสสาวะ ในผู้ที่ไวต่อกาเฟอีน หญิงตั้งครรภ์และผู้ที่เป็นโรคหัวใจจึงควรหลีกเลี่ยงการดื่มชามากเกินไป #drwinaidahlan#ดรวินัยดะห์ลัน#ชากับสุขภาพ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *