“ชา” จากวัฒนธรรมสู่สุขภาพ ตอนที่ 12

ป้านชา (Teapot) จะมีคุณภาพดีได้นั้น ดินที่นำมาใช้ในการทำป้านชาถือเป็นสิ่งสำคัญ ดินที่นับกันว่ามีคุณภาพดีที่สุดเป็นดินที่เรียกว่าดินโคลนม่วงทอง (Purple gold mud) ซึ่งพบมากในมณฑลเจียงสู เขตยิซิงทางตอนใต้ ดินประเภทนี้มีธาตุเหล็กอยู่มาก เมื่อนำมาปั้นเป็นป้านชาแล้วจะให้ป้านชาที่แข็งแรง สีงดงามออกน้ำตาลอมม่วง ความร้อนที่ใช้ในการเผาดินสูงประมาณ 1,150 องศาเซลเซียส ป้านชาที่ได้เรียกกันว่าป้านชาทรายม่วงหรือ Purple sand teapot เป็นป้านชาที่จัดว่ามีคุณภาพสูง

อันที่จริงป้านชาจะมีคุณภาพสูงมากหรือน้อยจะต้องประกอบด้วยองค์สาม อันได้แก่ ฝีมือของช่าง ความสวยงามของรูปทรง และความหนาบางและขนาดที่ช่วยเสริมให้ได้ชารสชาติดี ช่างป้านชาจีนฝีมือดีมีจำนวนไม่น้อย เมื่อปั้นป้านชาแล้วก็ประทับชื่อและสัญญักษณ์ของตนลงที่ก้นของป้าน ซึ่งป้านชาของช่างเหล่านี้กลายเป็นสิ่งสะสมที่มีค่าไปแล้ว สิ่งที่น่าสังเกตสำหรับป้านชาจีนที่ดีอย่างหนึ่งคือเมื่อใช้ชงชาคุณภาพดีบ่อยครั้ง เนื้อดินของป้านชาจะซึมซับชาทำให้ขึ้นเงามากขึ้น ป้านชาที่ดีจึงต้องใช้ชงชาดีมาก่อน คนที่รักชาจีน เมื่อได้เรียนรู้วิธีเลือกชา รู้วิธีชงชา และรู้วิธีเลือกป้านชาแล้ว ก็มักมีความสุขกับการเสาะแสวงหาชาจีนดีๆมาดื่ม การดื่มชาดีอย่างมีความสุขเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ส่งเสริมให้สุขภาพของผู้ดื่มดีตามไปด้วย

ทีนี้ลองมาดูคุณค่าทางโภชนาการและเภสัชวิทยาของใบชากันบ้าง ใบชาแห้งที่ใช้ชงดื่มทั่วไปมีความชื้นค่อนข้างต่ำ เมื่อนำใบชาแห้งเหล่านี้มาสกัดในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ พบว่าเกือบทั้งหมดหรือร้อยละ 93-96.5 ของสารในใบชาแห้งเป็นสารอินทรีย์ ซึ่งได้แก่ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต กรดอะมิโน อัลคาลอยด์ กรดอินทรีย์ วิตามิน เม็ดสี และสารอื่นๆ ขณะที่มีเพียงร้อยละ 3.5-7 ที่เป็นสารอนินทรีย์ ซึ่งมีประมาณ 27 ชนิด เป็นต้นว่า ฟอสฟอรัส โปตัสเซียม ซัลเฟอร์ แมกนีเซียม มังกานีส ฟลูออรีน อลูมิเนียม แคลเซียม โซเดียม เหล็ก ทองแดง สังกะสี เซเลเนียม

โปรตีนนับเป็นสารประกอบอินทรีย์ที่พบค่อนข้างมากในใบชาคือพบร้อยละ 20-30 ในจำนวนนี้มีเพียงร้อยละ 3.5 เป็นชนิดที่ละลายน้ำได้ มีกรดอะมิโนอยู่ร้อยละ 1.5-4 โดยมีประมาณ 20 ชนิด ในน้ำชาที่ชงจากใบชาจึงมีโปรตีนและกรดอะมิโนละลายปนอยู่ในปริมาณเล็กน้อย โดยเป็นโปรตีนชนิดที่ละลายน้ำรวมทั้งกรดอะมิโนที่กล่าวถึง นอกจากนี้ในใบชายังมีสารคาร์โบไฮเดรตร้อยละ 25-30 ในจำนวนนี้ร้อยละ 3-4 เป็นชนิดที่ละลายน้ำได้ น้ำชาที่มีรสหวานปนอยู่บ้างจึงเป็นผลมาจากสารคาร์โบไฮเดรตที่ละลายน้ำได้กลุ่มนี้ ในใบชามีสารพวกไขมันปนอยู่ร้อยละ 4-5 การต้มชาอาจจะเห็นสารไขมันเหล่านี้ลอยเป็นฝาอยู่ด้านบน เราไปว่ากันด้วยสารเคมีเหล่านี้ในตอนต่อไปก็แล้วกัน #drwinaidahlan#ดรวินัยดะห์ลัน#ชาจากวัฒนธรรมสู่สุขภาพ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *