“ชา” จากวัฒนธรรมสู่สุขภาพ ตอนที่ 2

สารพัดชาในโลก ชาในโลกมีสารพัด โดยชาที่ว่านี้ไม่ว่าจะเป็นชาจีน ชาญี่ปุ่น ชาเกาหลี ชาอินเดีย ชาศรีลังกา ชาอังกฤษ ชาอเมริกันล้วนมาจากพืชพันธุ์ชนิดเดียวกันคือ Camellia sinensis Linn. อย่างไรก็ตามการเตรียมชากลับมีความแตกต่างหลากหลายจากวัฒนธรรมที่เข้ามาเกี่ยวข้องทำให้เกิดชารูปแบบแตกต่างกันมากมายกว่า 3 พันรูปแบบ แตกต่างกันทั้งกรรมวิธีการผลิตใบชา การชงชา ไปจนถึงการปรุงแต่งรสชาติของชา การผลิตใบชาด้วยกรรมวิธีที่หลากหลายทำให้ได้ชาดำ ชาขาว ชาอู่หลง ชาเขียว ชาอบกลิ่น การปรุงแต่งชาทำให้ได้รสชาติของชาแตกต่างกันไป โดยมีทั้งชาจืด ชาหวาน ชาเค็ม ชาเปรี้ยว ชามัน ชาสมุนไพร มีทั้งชาใส่ถั่ว ใส่เครื่องเทศ ใส่เนยและอื่นๆอีกมากมายหลายรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม แม้การปรุงจะทำให้เกิดชาที่มีความแตกต่างกันมากมาย การปรุงและดื่มชาในโลกตะวันออก ทั้งในจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน กลับดำรงเอกลักษณ์ของตนเองไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากการดื่มชาในโลกตะวันออกถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างยาวนาน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไปแล้ว รูปแบบการดื่มชาของชาวตะวันตกที่เกิดขึ้นในภายหลังไม่สามารถก่ออิทธิพลแทรกซึมเข้ามาทำลายปราการทางวัฒนธรรมชาที่แข็งแกร่งของโลกตะวันออกได้

ในบรรดาชนชาติตะวันออกด้วยกัน จีนซึ่งเป็นชนชาติแรกที่เริ่มต้นการดื่มชา ได้สร้างวัฒนธรรมการดื่มชาขึ้นอย่างโดดเด่นที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การปรุง การดื่ม การริน การแจกจ่าย การบริการ ไปจนถึงการพัฒนาภาชนะที่ใช้ในการเตรียมชา ที่รู้จักกันทั่วไปว่า “ป้านชา” จนมีการกล่าวกันว่าการดื่มชาของชาวจีนมิใช่เป็นวัฒนธรรมแต่ได้พัฒนาจนกลายเป็นลัทธิและศาสนาไปแล้ว

ประวัติศาสตร์ของชา จากหนึ่งเดียวสู่ความหลากหลาย ชนชาติแรกที่รู้จักการดื่มชาคือจีน ซึ่งรู้จักชามานานกว่า 4 พันปี ในตำนานโบราณของจีนกล่าวว่าบุคคลแรกที่นำเอาใบชาแห้งมาต้มดื่มคือจักรพรรดิเฉินหนุง ซึ่งมีประวัติว่าครองราชย์เมื่อ 2,737 ปีก่อนคริสตกาล พระองค์ทรงค้นพบวิธีการปรุงชาโดยบังเอิญ ตามประวัติกล่าวว่าจักรพรรดิเฉินหนุงเป็นจักรพรรดิพระองค์แรกที่ทรงแนะนำให้พสกนิกรดื่มน้ำต้มเพื่อป้องกันโรค ทรงรักที่จะเสด็จประพาสไปตามสถานที่ต่างๆ วันหนึ่งขณะที่เสด็จไปถึงตำบลหนึ่งซึ่งมีชาป่าขึ้นอยู่ทั่วไป ทหารมหาดเล็กต้มน้ำเพื่อถวาย เมื่อน้ำต้มจนเดือดปรากฏว่ามีใบชาแห้งปลิวหล่นลงในภาชนะที่ใช้ต้มน้ำ จักรพรรดิเฉินหนุงทรงเป็นจักรพรรดินักประดิษฐ์ มีวิสัยทัศน์ยาวไกล และทรงช่างสังเกตเมื่อเห็นน้ำต้มเปลี่ยนสีเนื่องจากใบชา พระองค์ทรงเลือกที่จะทดลองดื่มน้ำที่ปนเปื้อนและทรงพบว่าใบชาทำให้น้ำมีรสชาติดีขึ้น จึงทรงมีรับสั่งให้นำต้นชาไปปลูกในพระราชวัง การดื่มชาในราชสำนักจึงเริ่มต้นขึ้นมานับแต่นั้น #drwinaidahlan#ดรวินัยดะห์ลัน#ชาจากวัฒนธรรมสู่สุขภาพ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *