“ชา” จากวัฒนธรรมสู่สุขภาพ ตอนที่ 3

ในยุคโบราณ การดื่มชาของชาวจีนที่แพร่หลายอยู่ในราชสำนักและชาวบ้านทั่วไปยังเป็นเพียงการดื่มน้ำต้มใบชาแห้งมิได้มีศิลปะปรุงแต่งมากนัก กระทั่งถึงยุคราชวงศ์ถัง มีชายจีนคนหนึ่งชื่อ “หลูหยู” ผู้ซึ่งคนจีนยุคปัจจุบันขนานนามว่าเทพเจ้าแห่งชา หลูหยูเกิดในมณฑลเหอเป่ย มีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ. 728-804 หลูหยูผู้นี้ค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับเรื่องชาไว้มากมาย ทั้งกรรมวิธีการผลิต การปรุง การดื่ม การทำสมาธิด้วยชา ต่อมาได้เขียนหนังสือชื่อ “ประเพณีแห่งชา” หรือ “ชาชิง” ไว้ใน ค.ศ.780 ขณะมีอายุได้ 51 ปี จัดเป็นหนังสือเกี่ยวกับชาเล่มแรกของโลก

ตามบันทึกทางประวัติศาสตร์ หลูหยูผู้นี้ตามประวัติเป็นเด็กกำพร้า พระจีนได้นำมาเลี้ยงดูไว้ในวัดนิกายเซ็น หลูหยูเรียนรู้ขนบธรรมเนียมต่างๆของพระในพุทธศาสนาเพื่อนำไปใช้ในการบวชเรียน อย่างไรก็ตามหลูหยูในวัยหนุ่มกลับหลบหนีออกจากวัดและใช้ชีวิตท่องไปตามสถานที่ต่างๆ ศึกษาและพัฒนารูปแบบใหม่ๆที่เกี่ยวข้องกับการชงและดื่มชาขึ้นและด้วยความผูกพันจากการที่เคยอยู่กับวัดมานาน รูปแบบการเตรียมชาของหลูหยูจึงมีธรรมเนียมทางศาสนาปะปนอยู่มาก หลูหยูที่มิได้เป็นพระแต่ประพฤติตนถือศีลไม่ต่างจากพระได้นำวิธีการชงและเตรียมชาที่คิดค้นขึ้นกลับเข้าไปเผยแพร่ให้กับพระในวัด วิธีการดื่มชาจึงถูกพัฒนาขึ้นจนกระทั่งกลายเป็นส่วนหนึ่งในพิธีกรรมทางศาสนาพุทธนิกายเซ็น

การดื่มชาจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการตั้งสมาธิในการสวดมนต์ เชื่อกันว่าศิลปะการชงชาที่เกิดขึ้นกระทั่งกลายเป็นวัฒนธรรมการชงชาในจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีนั้นเผยแพร่มาจากพระจีนที่นำเอาวิธีการของหลูหยูเผยแพร่ออกไป ประเพณีการชงชาของญี่ปุ่นสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับพระในพุทธศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในนิกายเซ็นและชินโตเนื่องมาจากพระจีนเป็นผู้นำมาเผยแพร่นี่เอง

ในประเทศญี่ปุ่นนั้น ประเพณีการดื่มชาที่เกิดขึ้นในวัดเมื่อถูกเผยแพร่ออกนอกวัดถูกดัดแปลงไปมาก เกิดการประกวดประชัน มีการปรุงแต่งแนวทางใหม่ๆเสริมเข้าไปจนกระทั่งทำให้การดื่มชาขาดความศักดิ์สิทธิ์เป็นผลให้มีพระญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งพยายามที่จะฟื้นฟูประเพณีชงชาที่เรียกกันว่า “ชาโนยุ” ตามรูปแบบดั้งเดิมไว้ พระญี่ปุ่นองค์หนึ่งเป็นเจ้าชายที่เข้าบวชเรียนในพุทธศาสนาเคยเรียนรู้ประเพณีการชงชาที่ใช้กันอยู่ในราชสำนักซึ่งแปลงไปจากเดิมจนขาดศิลปะและความศักดิ์สิทธิ์เมื่อได้เรียนรู้วิธีการชงชาจากวัดจึงพยายามศึกษารูปแบบการชงชาดั้งเดิมและนำกลับมาเผยแพร่อีกครั้งหนึ่ง พระสงฆ์รูปนี้มีชื่อเรียกกันทั่วไปว่า “อิกคิว” มีชีวิตอยู่ในช่วงค.ศ.1394-1481 เป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างมากในการฟื้นฟูประเพณีชงชาดั้งเดิมของญี่ปุ่น ชื่อเสียงของพระองค์นี้ถูกดัดแปลงกลายเป็นการ์ตูนญี่ปุ่นชื่อดังเรื่อง “อิกคิวซัง” ที่คนไทยรู้จักกันทั่วไป #drwinaidahlan#ดรวินัยดะห์ลัน#ชาจากวัฒนธรรมสู่สุขภาพ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *