“ชา” จากวัฒนธรรมสู่การเมืองและสุขภาพ ตอนที่ 8

ดังที่บอก ปอร์ตุเกสเป็นยุโรปตะวันตกชาติแรกที่สามารถล่องเรือฝ่าอุปสรรคคลื่นลมและพายุกระทั่งผ่านแหลมกู้ดโฮปไปจนถึงฝั่งอินเดียได้ใน ค.ศ.1497 หลังจากนั้นอีก 20 ปีจึงเดินทางไปถึงจีนใน ค.ศ.1517 ปอร์ตุเกสร่ำรวยจากการค้าโดยตรงกับโลกตะวันออกไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางทั้งชาวเยนัว, เวนิซ และอาหรับอีกต่อไป สินค้าจากโลกตะวันตกหลั่งไหลเข้าสู่ยุโรปตะวันตกที่เริ่มมั่งคั่งขึ้นในยุคเรเนสซองค์ช่วงศตวรรษที่ 16 นั่นเองคือเหตุผลที่ทำให้ชาวดัทช์ที่เริ่มเป็นอิสระจากจักรวรรดิสเปนใฝ่ฝันที่จะเป็นมหาอำนาจทางการค้าบ้าง ช่วง ค.ศ.1595-97 กองเรือสินค้าของดัทช์จึงผ่านแหลมกู้ดโฮปมาจนถึงอินเดีย ก่อนเข้าไปถึงจีนใน ค.ศ.1601 ทว่ากลับเปิดการค้าไม่ได้เนื่องจากปอร์ตุเกสผูกขาดการค้ากับจีนไว้แล้ว สิ่งที่ดัทช์ทำได้คือยึดเกาะฟอร์โมซาหรือไต้หวันไว้ใน ค.ศ.1624 ก่อนค่อยๆเริ่มการค้ากับจีนและญี่ปุ่นผ่านทางบริษัทอินเดียตะวันออกหรือ VOC ก่อนศตวรรษที่ 16 ชาวยุโรปตะวันตกไม่รู้จักเครื่องดื่มที่เรียกว่าชาซึ่งนิยมดื่มกันในแผ่นดินจีนเลย ชาวปอร์ตุเกสโดยกลุ่มมิชชันนารีเป็นยุโรปกลุ่มแรกที่เข้าไปในแผ่นดินจีนกระทั่งได้รับอนุญาตให้ตั้งถิ่นฐานเริ่มต้นที่มาเก๊าใน ค.ศ.1557 ก่อนนำใบชาจากจีนเข้าไปแนะนำในยุโรปช่วง ค.ศ.1569 ร้อยปีหลังจากนั้นคือใน ค.ศ.1662 เจ้าหญิงจากปอร์ตุเกสคือคาเธอรีนแห่งบรากานซา (Catherine of Braganza) ซึ่งเข้าไปเป็นราชินีของอังกฤษสมัยพระเจ้าชาร์ลที่ 2 ได้นำเอาใบชาจากปอร์ตุเกสเข้าไปในราชสำนักอังกฤษ โดยก่อนหน้านั้น ชาได้เข้าสู่อังกฤษตั้งแต่ ค.ศ.1650 แล้วโดยพ่อค้าชาวปอร์ตุเกส ทว่ากระจายเฉพาะในกลุ่มขุนนางเท่านั้นยังไม่ขึ้นสู่ราชสำนัก ช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1660 นั่นเองที่ชาได้กระตุ้นให้ราชสำนักอังกฤษหันมาสนใจสินค้าตัวใหม่นี้ ในส่วนของดัทช์เมื่อประสบปัญหาทางการค้ากับจีน ได้หันไปค้าขายกับญี่ปุ่นตั้งแต่ ค.ศ.1600 โดยนำใบชาจากญี่ปุ่นเข้าสู่ยุโรปโดยขายแข่งกับปอร์ตุเกส เป็นผลให้ในช่วงศตวรรษที่ 17 ชาได้รับความนิยมมากขึ้นในยุโรป ชาเข้าสู่ฝรั่งเศสใน ค.ศ.1635 เข้าสู่เยอรมันและอังกฤษใน ค.ศ.1650 อังกฤษซึ่งทำมาค้าขายกับชนอาหรับค่อนข้างมากเวลานั้น ได้นำน้ำตาลของอาหรับผสมลงไปในชากระทั่งได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มชนชั้นสูงในขณะที่ชาไม่สามารถสู้ไวน์ในฝรั่งเศสและเบียร์ในเยอรมันได้ ทั้งฝรั่งเศสและเยอรมันจึงไม่สนใจการค้าขายใบชานัก ผิดกับดัทช์และอังกฤษที่ต่างมองว่าชาจะกลายเป็นสินค้าหลักสำหรับตนในอนาคตอังกฤษเป็นชาติที่สามที่เดินทางตามปอร์ตุเกสและดัทช์มายังโลกตะวันออก เริ่มจากการเดินทางโดยทางเรือมาถึงเมืองสุรัตของอินเดียใน ค.ศ.1608 จากนั้นจึงเข้าไปทำการค้ากับจีน ทว่าปัญหาคือจีนมองว่าตนเองสามารถผลิตสินค้าทุกชนิดที่ต้องการได้ ขณะที่อังกฤษสนใจการค้าในลักษณะแลกเปลี่ยนและต่างตอบแทนมากกว่า เรื่องราวการค้าที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งระหว่างอังกฤษกับจีนจึงกลายเป็นมหากาพย์ที่นำไปสู่ประเด็นทางประวัติศาสตร์สำคัญที่เปลี่ยนยุคแห่งการสำรวจและการค้นพบไปสู่ยุคแห่งการล่าอาณานิคมของอังกฤษและชาติตะวันตก ที่ทำเอาโลกตะวันออกเจ็บปวดกันแสนสาหัส ลองแกะรอยไปดูก็แล้วกัน #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #ชาจากวัฒนธรรมสู่สุขภาพ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *