ชนชาวเติร์กกับพลังและโมเมนตัมที่ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์โลก ตอนที่ 71

แผ่นดินระหว่างทะเลดำกับทะเลสาบแคสเปียนยาวประมาณ 1.1 พันกิโลเมตร มีเทือกเขาใหญ่อยู่สองเทือกทอดผ่านจากตะวันตกไปทางตะวันออก ด้านบนคือเทือกเขาใหญ่คอคอซัส (Greater Caucasus) ด้านล่างคือเทือกเขาคอเคซัสน้อย (Lesser Caucasus) ระหว่างสองเทือกเขานี้เป็นที่ตั้งของประเทศอิสระสามประเทศที่แยกออกมาจากสหภาพโซเวียตใน ค.ศ.1991 ได้แก่ จอร์เจีย (Georgia) อาร์มีเนีย (Armenia) และอะเซอร์ไบจัน (Azerbaijan) ทั้งยังเป็นที่ตั้งอีกหนึ่งรัฐคืออับฆาเซีย (Abkhazia) ทว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลกรับรองว่ารัฐนี้คือส่วนหนึ่งของประเทศจอร์เจีย ขณะที่อับฆาเซียเองดิ้นรนที่จะเป็นอิสระ ประเทศใหญ่ที่สุดมีประชากรมากที่สุดในพื้นที่นี้คืออะเซอร์ไบจันซึ่งมีเนื้อที่รวม 86,600 ตารางกิโลเมตร ประชากรใน ค.ศ.2020 มี 10 ล้านคน ประเทศนี้แบ่งเป็นสองส่วน พื้นที่ส่วนใหญ่ติดทะเลสาบแคสเปียนโดยมีพื้นที่เล็กๆแยกส่วนออกมาทางตะวันตก เป็นพื้นที่ที่ล้อมรอบด้วยอิหร่านและอาร์มีเนีย ในส่วนของพื้นที่ใหญ่มีพื้นที่ส่วนหนึ่งที่เป็นปัญหาคือ “นากอร์โน-คาราบัก” (Nagorno-Karabakh) ซึ่งมีพื้นที่ขนาด 4,400 ตารางกิโลเมตร พื้นที่นี้องค์การสหประชาชาติรับรองว่าเป็นของอะเซอร์ไบจัน ทว่าประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่นี้เป็นชนอาร์มีเนียโดยมีกองทัพอาร์มีเนียเข้ามายึดครองไว้ กระทั่งก่อให้เกิดสงครามระหว่างสองประเทศสองครั้งโดยครั้งสุดท้ายเกิดใน ค.ศ.2020 ข้อยุติที่กำหนดขึ้นคืออาร์มีเนียต้องถอนทหารและคืนพื้นที่ให้อะเซอร์ไบจัน อะเซอร์ไบจันเป็นประเทศกำลังพัฒนาในแถบคอเคซัส ประชากรร้อยละ 92 มีเชื้อสายเติร์กเผ่าอะเซอร์ไบจานีหรืออะเซอรี (Azeri) ส่วนที่เหลือเป็นประชากรเชื้อสายเลซเกียน (Lezkian) รัสเซีย อาร์มีเนีย และอื่นๆ ร้อยละ 97 ของประชากรในประเทศนับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะอฺ ผลการตรวจสอบทางพันธุกรรมพบว่าชนอะเซอร์ไบจานีเป็นเติร์กเผ่าหนึ่งโดยมีส่วนผสมของชนหลายชาติ ส่วนใหญ่เป็นเติร์กเผ่าออกุซ พื้นที่นี้ในอดีตเคยถูกปกครองโดยหลายชนชาติ ทั้งอัลบาเนีย ไบแซนไทน์ เปอร์เซีย อาร์มีเนีย จอร์เจีย ชนเติร์กเผ่าออกุซอพยพลงมาในพื้นที่เอเชียกลางตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 ยุคสมัยอับบาสิยะฮฺก่อนเคลื่อนย้ายเข้าสู่คอเคซัสในศตวรรษที่ 11 ในพื้นที่ดังกล่าวมีประชากรดั้งเดิมของพื้นที่ ได้แก่ มีเดียนส์ (Medians) ซึ่งเป็นอิหร่านกลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่ก่อนแล้ว เมื่อจักรวรรดิต่างๆเข้าปกครองพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นเปอร์เซียหรือเซลจุก เป็นผลให้สายเลือดของอะเซอร์ไบจันปะปนมากขึ้น นับแต่ศตวรรษที่ 13 เป็นต้นมา หลายจักรวรรดิได้เข้ามาปกครองพื้นที่นี้ เช่น มองโกล ทิมูริด หรือแม้กระทั่งอุสมานียะฮฺ ซาฟาวิด จนถึงรัสเซีย และโซเวียต เมื่อครั้งที่รัสเซียอ่อนแอลง ชนอะเซอร์ไบจานีเคยประกาศอิสรภาพแล้วครั้งหนึ่งใน ค.ศ.1918 ทว่าเป็นอิสระอยู่ได้เพียงสองปี สหภาพโซเวียตซึ่งเป็นจักรวรรดิต่อเนื่องจากรัสเซียได้เข้าปกครองอีกครั้งต่อเนื่องยาวนานจนกระทั่งโซเวียตล่มสลายลง อะเซอร์ไบจันจึงเป็นเอกราชในฐานะประเทศหนึ่ง ด้านเหนือติดกับประเทศรัสเซีย ด้านตะวันตกติดกับตุรกี จอร์เจียและอาร์มีเนีย ด้านใต้ติดกับอิหร่าน #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *