ชนชาวเติร์กกับพลังและโมเมนตัมที่ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์โลก ตอนที่ 41

อิสลามเริ่มต้นด้วยการศึกษา คัมภีร์อัลกุรอานอันนับเป็นพระดำรัสของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอะอาลา (ซ.บ.) บทแรกที่ประทานสู่ท่านนบีมุฮำมัด ซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม (ซ.ล.) ใน ค.ศ.610 คือบทที่ชื่อ “อัลอะลัก” หรือก้อนโลหิต เริ่มด้วยคำว่า “อิกเราะฮฺ” อันหมายถึง “จงอ่าน” เป็นคำสั่งใช้ให้ท่านนบีอ่านตาม กล่าวถึงการเป็นพระผู้ทรงสร้าง ผู้ทรงสอนมนุษย์ให้รู้จักการอ่านเขียน ทรงสอนในสิ่งที่มนุษย์ไม่รู้ เน้นย้ำความสำคัญของการศึกษา ในคัมภีร์อัลกุรอาน 114 บท 6,236 วรรคที่ประทานลงมาตลอด 23 ปีของการเป็นศาสดาของท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) มีมากกว่า 1,000 วรรคเกี่ยวข้องกับวิทยาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เริ่มตั้งแต่วรรคที่กล่าวถึงการสร้างมนุษย์จากก้อนโลหิตซึ่งปรากฏในบทอัลอะลักที่กล่าวถึงข้างต้นนั่นแหละ อัลกุรอานที่ประทานลงสู่ท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) ซึ่งเป็นผู้ที่อ่านเขียนไม่ได้ บ่งชี้ว่าอิสลามให้ความสำคัญกับการศึกษา กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ยุคสมัยของท่านนบีมุฮัมมัดตลอดจนยุคหลังจากนั้น นำชนอาหรับจากทะเลทรายอาระเบียที่ล้าหลังด้านการศึกษาเมื่อเทียบกับชนกลุ่มอื่นเกิดพัฒนาการก้าวหน้าอย่างรวดเร็วกระทั่งสามารถนำอิสลามเข้าสู่ยุคทองในสมัยอับบาสิยะฮฺ ช่วงศตวรรษที่ 8-13 มีพัฒนาการด้านศิลปะวิทยาการทุกสาขารวมถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้นสู่ระดับสูงสุด เหนือกว่าทุกชาติที่มีอยู่ในโลกเวลานั้น อิสลามเปลี่ยนชนอาหรับที่ล้าหลังจากทะเลทรายอาระเบียให้มีพัฒนาการด้านการศึกษาตลอดจนศิลปะวิทยาการสาขาต่างๆก้าวหน้าอย่างยิ่ง ไม่เพียงเท่านั้นยังสามารถเปลี่ยนชนเติร์กที่ล้าหลังจากทุ่งหญ้าสเต็ปป์ในเอเชียกลางให้มีความก้าวหน้าทางวิทยาการได้ด้วยโดยเริ่มตั้งแต่ยุคจักรวรรดิฆาสนาวิดต่อเนื่องไปจนถึงจักรวรรดิเซลจุกและควาเรสเมีย เมื่ออิสลามผ่านมือมาถึงชนเติร์กในอะนาโตเลียตอนปลายศตวรรษที่ 13 ออตโตมันเบลิกที่ล้าหลังทั้งยังนำโดยออสมันที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ อิทธิพลทางการศึกษาในอิสลามได้ชักนำให้ออสมันที่เคร่งศาสนาเลี้ยงดูบุตรธิดาโดยเน้นย้ำความสำคัญของการศึกษา กระทั่งทำให้ราชโอรสคือสุลต่านออร์ฮันที่ 1 ทรงเริ่มต้นจักรวรรดิด้วยการสร้างสถาบันการศึกษาแรกของอุสมานียะฮฺ สิ่งนี้เองที่เป็นเหตุผลว่าเหตุใดจักรวรรดิแห่งนี้จึงก้าวหน้าด้านการศึกษาส่งผลให้มีอายุยืนยาวยิ่งกว่าจักรวรรดิอื่นของชนเติร์กที่มีมาในอดีตเอเมเลดดิน อิกซานโนลู (Ekmeleddin Ihsanoglu) นักประวัติศาสตร์อดีตเลขาธิการโอไอซีที่มีสมาชิกเป็นชาติมุสลิม 57 ประเทศเขียนบันทึกไว้น่าสนใจว่าจักรวรรดิอุสมานียะฮฺเร่งพัฒนาการศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตลอดศตวรรษที่ 13-16 แซงหน้าชาติต่างๆในยุโรปมาได้โดยตลอด น่าเสียดายเมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 18-19 ยุโรปเข้าสู่ยุคเรืองรองทางปัญญานำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม นับจากนั้นจักรวรรดิอุสมานียะฮฺถูกบรรดาชาติยุโรปแซงหน้ากระทั่งทิ้งห่าง รู้กันอยู่ว่าความเป็นจักรวรรดิดำรงอยู่ไม่ได้เลยหากสูญเสียการนำด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจ สิ่งที่เคยกังวลในที่สุดจึงมาถึง จักรวรรดิอุสมานียะฮฺล่มสลายไปจนได้ จึงอยากเขียนถึงว่าอุสมานียะฮฺพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวหน้าไปได้แค่ไหน และเหตุใดจึงเข้าสู่ยุคถดถอย ตุรกียุคใหม่จะฟื้นฟูขึ้นอีกครั้งได้อย่างไร ติดตามหน่อยก็แล้วกัน #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *