ชนชาวเติร์กกับพลังและโมเมนตัมที่ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์โลก ตอนที่ 23

เรื่องราวของชนชาวเติร์กที่เขียนถึง ส่วนใหญ่เป็นช่วงเวลาในยุคกลาง (Medieval หรือ Middle ages) นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 5-15 เวลานั้นชนชาวเติร์กจำนวนมากอพยพโยกย้ายถิ่นที่อยู่จากทางตอนเหนือของเอเชีย เข้ามาในเอเชียกลางแล้ว เมื่อกล่าวถึงเติร์กควรรู้จักชนชนกลุ่มอื่นที่มีความสัมพันธ์เชิงบวกและลบกับชนเติร์ก ขอเลือกมาสองกลุ่มคือ “#มองโกล” (#Mongols) กับ “#ครูเสด” (#Crusaders) ซึ่งมีส่วนทำให้ประวัติศาสตร์ในพื้นที่เปลี่ยนแปลงไป ขอเริ่มที่มองโกลก่อน เมื่อช่วงเวลาผ่านมาจนถึงปลายศตวรรษที่ 12 จักรวรรดิอายุสั้นของเซลจุกใกล้ล่มสลายเต็มทน เมื่อต้องกระทบกระทั่งกับอาณาจักรฆาราฆิตัย (Qara Qhitai) ตอนปลายศตวรรษที่ 12 เซลจุกในพื้นที่ของเปอร์เซียจึงปิดฉาก อย่างไรก็ตาม เซลจุกยังทิ้งทายาทคือรัฐสุลต่านแห่งรุม (Sultanate of Rum) ไว้ในคาบสมุทรอะนาโตเลีย ในส่วนของมองโกลก่อนหน้านี้ไม่มีวี่แววว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจในพื้นที่เลย ชนเผ่ามองโกลไม่ต่างไปจากเติร์กคืออยู่อาศัยกันแบบชนเร่ร่อน จนกระทั่งการมาของผู้นำอย่างเจงกิสข่าน (Genghis Khan) ที่รวบรวมชนเร่ร่อนในทุ่งหญ้าสเต็ปป์เข้าด้วยกัน ส่วนใหญ่เป็นมองโกลนอกจากนี้ยังมีชนเติร์กอีกหลายกลุ่มเข้าไปร่วม ถึง ค.ศ.1206 ต้นศตวรรษที่ 13 มองโกลก็ผงาดขึ้นมาชนิดไม่มีปี่มีขลุ่ย พื้นที่เอเชียกลางเวลานั้นมีอาณาจักรที่ยังคงอยู่อย่างน้อยสองอาณาจักรคือฆาราฆิตัยซึ่งเป็นกลุ่มชนผสมระหว่างเติร์กกับจีน กับอาณาจักรควาเรซเมียน (Khwarrezmian) ซึ่งเป็นเติร์กที่นำอารยธรรมเปอร์เซียเข้าไปใช้ จะเรียกว่าเติร์ก-เปอร์เซียก็ไม่ผิด ฆาราฆิตัยเมื่อได้ชัยชนะต่อจักรวรรดิเซลจุกในการศึกที่ฆัตวัน (Battle of Qatwan) ค.ศ.1141 ได้เข้าไประรานหลายรัฐแถบเอเชียกลางกระทั่งปะทะเข้ากับอาณาจักรควาเรซเมียนจนถูกสอนเชิงต้องพ่ายแพ้ใน ค.ศ.1211 แต่ยังไม่เข็ดหลาบ ฆาราฆิตัยยังกระทบกระทั่งกับบางกลุ่มชนที่เข้าไปสวามิภักดิ์กับมองโกลที่เวลานั้นเริ่มฉายแววความเป็นมหาอำนาจแล้ว ใน ค.ศ.1216 ฆาราฆิตัยถูกทัพมองโกลกำราบ ผู้นำฆาราฆิตัยหนีไปได้แต่ถูกตามเก็บในอีกสองปีต่อมาเป็นอันว่าจบอาณาจักรฆาราฆิตัยด้วยน้ำมือของมองโกลไปในที่สุดฆาราฆิตัยมีความเป็นจีนมากกว่าเติร์ก มองโกลจึงขาดความรู้สึกว่าเป็นชนกลุ่มเดียวกัน แต่กับควาเรซเมียนซึ่งเป็นเติร์ก เจงกิสข่านพยายามยื่นมือเข้ามาญาติดีด้วยโดยส่งทูตขอสานสัมพันธ์ทางการค้า ทว่าเกิดความผิดพลาด ทูตทั้งหมดถูกสังหารกลายเป็นสัญญาณให้ทัพมองโกลเข้ารุกรานดินแดนทรานโซเซียนา (Transoxiana) ของควาเรซเมียนในช่วง ค.ศ.1219-1220 เปิดหน้าประวัติศาสตร์ความหฤโหดของทัพมองโกล หลายเมืองรวมทั้งคอราซาน (Khorazan) ถูกทำลายราบ ผู้คนถูกสังหารแทบไม่เหลือ เวลานั้นทัพควาริซเมียนที่แตกทัพส่วนหนึ่งอพยพไปอยู่ตะวันออกกลางกลายเป็นทหารรับจ้างให้กับมัมลุกในอียิปต์รบกับทัพครูเสด กลายเป็นอย่างนั้น มีเรื่องน่าแปลกอยู่เรื่องหนึ่งคือเจงกิสข่านปล่อย #ซามาร์คาน#บุคอรอ ในอุซเบกิสถานไว้โดยไม่บุบสลาย เมืองสวยงามเหล่านั้นจึงรอดมาได้จนปัจจุบัน ต้องสวยงามจับตาระดับไหนจึงจะได้รับการยกเว้นจากมองโกลพวกเราสมควรไปชมด้วยตาตนเอง #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *