ชนชาวเติร์กกับพลังและโมเมนตัมที่ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์โลก ตอนที่ 11

#เติร์ก (#Turk) เป็นชนเผ่าโบราณตั้งรกรากอยู่ในเอเชียกลางและเอเชียเหนือประกอบไปด้วยชนเผ่าเล็กๆมากมายนับร้อยเผ่า มีเลือดเนื้อเชื้อไขผสมปนเปกันในกลุ่มชนหลายกลุ่มที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แถบนั้น ความที่เป็นกลุ่มชนเร่ร่อนเลี้ยงปศุสัตว์ สร้างวัฒนธรรมขึ้นได้ระดับหนึ่งที่ยังไม่พัฒนาถึงขั้นอารยธรรม โดยกลุ่มชนที่เรียกว่าเติร์กมีจุดร่วมสำคัญคือภาษาที่แบ่งแยกออกเป็นหลายสำเนียงที่แตกต่างหลากหลาย ชนเหล่านี้ในยุคโบราณนับถือผีหรือศาสนาดั้งเดิม ยึดฟ้ายึดแผ่นดินเป็นพระเจ้า หลายกลุ่มเป็นพุทธ และศาสนาโบราณอีกหลายศาสนา บางกลุ่มเป็นยิว เมื่อศาสนาคริสต์เริ่มแพร่เข้าไปในเอเชียกลาง ชนเติร์กหลายกลุ่มเปลี่ยนเป็นคริสต์ กว่าจะรับอิสลามก็ล่วงเข้าไปในคริสต์ศตวรรษที่ 8 และหลังจากนั้นแล้วอยู่ในพื้นที่มานาน สัมพันธ์กับชนกลุ่มอื่นหลายกลุ่ม บางครั้งชนชาวเติร์กมีโอกาสสร้างรัฐของตนเองขึ้น เป็นรัฐข่าน (Khaganate) ซึ่งมีอยู่หลายรัฐ ขอยกตัวอย่างรัฐข่านอุยกูร์ (Uyghur Khaganate) ซึ่งเป็นรัฐช่วงสั้นๆระหว่างศตวรรษที่ 8-9 ครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของมองโกเลีย จีนตอนเหนือและตะวันตกและบางส่วนของแมนจูเรียภาคเหนือ ชนเติร์กอุยกูร์เวลานั้นส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธบางส่วนไม่มีศาสนา รัฐข่านที่ชนเติร์กอุยกูร์สร้างขึ้นนี้มีสัมพันธ์ที่ดีกับจีนในราชวงศ์ถัง (Tang dynasty) จึงใช้ชื่อจีน พูดสองภาษาทั้งเติร์กทั้งจีน ทหารในกองทัพจีนเวลานั้นจำนวนไม่น้อยเป็นชนเผ่าเติร์กอุยกูร์ เมื่อรัฐข่านของชนชาวเติร์กอุยกูร์ล่มสลายลงใน ค.ศ.840 ทหารเติร์กอุยกูร์ในราชวงศ์ถังยังคงบทบาทสำคัญอยู่ หลายส่วนผันตนเองไปเป็นจีนแล้วด้วยซ้ำสังคมยุคเก่าความรู้สึกผูกพันในลักษณะรัฐชาติเช่นที่ถูกสร้างขึ้นในยุคหลังยังไม่เกิด เรื่องของภาษาพูด วัฒนธรรม ความเชื่อเป็นเพียงส่วนประกอบของกลุ่มชนเท่านั้น ศึกษาจากสังคมไทยก็คงเห็น คำว่าไทยรบพม่าหรือพม่ารบไทยเป็นคำที่นำมาใช้กันภายหลัง ในยุคสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นเรื่องราวการรบพุ่งระหว่างรัฐอโยธยากับรัฐหงสาวดีหรืออังวะ เป็นการศึกของสองราชวงศ์ไม่ใช่สองชาติ ทหารในกองทัพอังวะจำนวนไม่น้อยเป็นไทย ทหารอโยธยาเองจำนวนไม่น้อยเป็นมอญหรือแม้กระทั่งพม่า ล้านนาหรือเชียงใหม่เวลานั้นยังนับเป็นอีกรัฐหนึ่ง ไม่ได้เป็นประเทศไทยเช่นปัจจุบัน ชนชาวเติร์กก็เป็นเช่นเดียวกัน จึงเป็นเรื่องปกติที่ส่วนหนึ่งของชนชาวเติร์กจะกลายเป็นชาวจีนหรือแม้กระทั่งก้าวขึ้นเป็นจักรพรรดิในแผ่นดินจีน ตัวอย่างที่เห็นกันชัดๆของการก้าวขึ้นสู่อำนาจของชนชาวเติร์กในแผ่นดินจีนเกิดในราชวงศ์ถัง รู้กันอยู่ว่าการเปลี่ยนหลายราชวงศ์จีนมาจากการแย่งชิงราชสมบัติ กลุ่มใดครอบครองอาวุธก็ย่อมได้เปรียบ เมื่อทหารเติร์กอุยกูร์ชื่อจีน พูดภาษาจีน ครองอำนาจในราชสำนักก็ถือโอกาสยึดราชสมบัติขึ้นไปครองอำนาจ ยกตัวอย่างเช่น จักรพรรดิในราชวงศ์ถังยุคหลัง (Later Tang) ค.ศ.923-937 ใช้ชื่อเป็นราชวงศ์ถังแต่จักรพรรดิ 4 องค์มาจากชนเติร์กชาตั๋ว (Shatuo) ซึ่งเป็นสาขาของอุยกูร์ ชนกลุ่มนี้ขึ้นปกครองจีนเมื่อครั้งแผ่นดินจีนแตกเป็นยุค 5 ราชวงศ์ 10 อาณาจักร (ค.ศ.907-960) ชนเผ่าชาตั๋วนี้ท้ายที่สุดแปลงสภาพไปเป็นจีนกันหมด สามารถสร้างราชวงศ์ปกครองจีนในเวลาต่อมาได้อีกหลายราชวงศ์ #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *