ชนชาวเติร์กกับพลังและโมเมนตัมที่ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์โลก ตอนที่ 9

จีนเป็นประเทศที่ทั้งเก่าแก่ยาวนานหลายพันปี ทั้งมีขนาดใหญ่โต อีกทั้งยังสร้างอารยธรรมขึ้นอย่างโดดเด่น กว่าจีนจะยิ่งใหญ่อย่างที่เห็น อาณาจักรผ่านการแบ่งแยกมาหลายครั้งหลายหน เป็นราชวงศ์เหนือใต้ ตะวันออก ตะวันตก หลายครั้งยังแบ่งเป็นหลายแคว้น หลายมณฑล หลายรัฐ หลายเผ่าผ่านการปกครองโดยชนหลายกลุ่ม เด่นที่สุดคือมองโกลในราชวงศ์หยวน (Yuan ค.ศ.1271-1368) แมนจูในราชวงศ์ชิง (Qing ค.ศ.1644-1912) อีกกลุ่มหนึ่งที่ลืมเลือนกันอยู่บ่อยคือเติร์กเมื่อครั้งอาณาจักรเซียงหนู (Xiongnu ค.ศ.304-329) และราชวงศ์เว่ย (Wei ค.ศ.386-534/535) แผ่นดินจีนหลังยุคสามก๊ก (ค.ศ.220-280) รวมกันเป็นอาณาจักรหนึ่งเดียวในระยะเวลาสั้นๆหลังจากนั้นจึงแตกแยกกันต่อ จีนทางตอนเหนือมีกลุ่มชนแบ่งเป็นชนเผ่ามากมาย ทั้งมองโกล ทั้งเติร์ก แมนจู และอีกหลายกลุ่ม เติร์กเองยังแบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม ขณะที่จีนเคยสงบช่วงยาวๆ ตั้งในทำเลอุดมสมบูรณ์จึงสามารถสร้างอารยธรรมขึ้นมาได้ กลุ่มชนเผ่าทางเหนือกลับตั้งอยู่ในพื้นที่แร้นแค้น รบราแบ่งแย่งทรัพยากรกันอยู่บ่อยจึงเป็นคล้ายชนเร่ร่อนอยู่กับฝูงปศุสัตว์ในทุ่งหญ้าสเต็ปป์ที่มีพื้นที่กว้างขวาง ชาวเติร์กและมองโกลอาศัยในกระโจมโยกย้ายไปตามพื้นที่ต่างๆ ความเป็นชนชาตินักรบบางครั้งมีโอกาสเข้ามาสร้างราชวงศ์ปกครองจีนโดยใช้โครงสร้างการปกครองของจีนที่มีอยู่เดิม ราชวงศ์จากชนเผ่าไม่ว่าจะเป็นเติร์กหรือมองโกลมีอายุค่อนข้างสั้น จะยกเว้นเฉพาะแมนจูเท่านั้นราชวงศ์เว่ย (Wei dynasty) ของชนเติร์กรู้จักกันในชื่อถัวป่า (Tuoba) จากชนเผ่าเซียนเป่ย (Xianbei) ซึ่งเป็นสาขาของชนเซียงหนู ชนกลุ่มนี้พูดภาษาในกลุ่มเติร์กที่มีมากมายกว่า 30 สำเนียง จึงเป็นชนเติร์กกลุ่มหนึ่ง เมื่อแผ่นดินจีนมีอันต้องแตกแยกเป็น 5 ชนเผ่า 16 แคว้น ชนชาวเติร์กทางตอนเหนือที่มีความเชี่ยวชาญด้านการรบมากกว่าได้ใช้โอกาสเข้าครอบครองแผ่นดินจีนทางตอนเหนือตั้งราชวงศ์เว่ยเหนือ (Northern Wei dynasty) ขึ้นช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 4 ถึงกลางศตวรรษที่ 6 ระหว่างที่ปกครองต้องรบทัพจับศึกกับชนเผ่ามองโกล และเติร์กด้วยกัน หาความสงบได้ไม่มากเท่าไหร่ อยู่ได้ไม่ถึงสองศตวรรษก็ล่มสลายอันที่จริงราชวงศ์เว่ยของชนชาวเติร์กไม่ได้มีอะไรน่าสนใจมากนัก ทว่าเป็นเรื่องขึ้นมาได้เพราะเรื่องราวของวีรสตรีเผ่าเซียนเป่ยหรือเติร์กนางหนึ่งที่ชื่อ “ฮวามู่หลาน” (HwaMulan) นางนี้มีตัวตนจริงหรือไม่ยากที่จะพิสูจน์แต่ลำนำเพลงโบราณที่ขับขานกันในยุคเก่าเล่าถึงวีรกรรมของนางในการรักษาราชวงศ์เว่ยจากการรุกรานของชนมองโกลเผ่าหนึ่ง กลายเป็นเรื่องที่เล่าขานกันในยุคหลัง อีกทั้งยังแปรเปลี่ยนไปเป็นบันทึกที่เกิดขึ้นในราชวงศ์ยุคหลังจากนั้น เรื่องราวของฮวามู่หลานจะเป็นจริงหรือไม่ ไม่สำคัญเท่าได้ทำให้ชนรุ่นหลังรับรู้การมีตัวตนของชนเผ่าเติร์กที่มีมากมายหลายกลุ่มอาศัยอยู่ทางดินแดนตอนเหนือของจีน สำคัญถึงขนาดเคยเข้ามาปกครองแผ่นดินจีนในยุคหนึ่งเลยด้วยซ้ำ เรื่องอย่างนี้จึงต้องบันทึก #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *