ชนชาวเติร์กกับพลังและโมเมนตัมที่ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์โลก ตอนที่ 4

ย้อนกลับไปในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 7 ศาสนาอิสลามเริ่มต้นขึ้นในอาระเบียสร้างเมืองหลวงขึ้นที่มะดีนะฮฺ ขณะที่เอเชียกลางเป็นที่อาศัยของชนชาวเติร์กที่ได้รับอิทธิพลจากจักรวรรดิซัสซานิด (Sassanid) ของเปอร์เซียมีโซโรเอสเตอร์หรือลัทธิบูชาไฟเป็นศาสนาหลัก กระทั่งยุคสมัยของคอลีฟะฮฺอุมัร อิบนฺคอฏฏอบ (ร.ฎ.) สงครามครั้งสุดท้ายระหว่างสองทัพที่นาฮาวันด์ (Nahavand) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เมืองฮาเมดานของอิหร่านในปัจจุบัน จักรวรรดิซัสซานิดพ่ายแพ้ใน ค.ศ.651 ตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 7 อิสลามจึงแผ่เข้าสู่เปอร์เซียก่อนส่งผ่านไปยังเอเชียกลาง #ชาวเติร์กและชาวเปอร์เซีย ในพื้นที่ต่างยอมรับศาสนาอิสลามเป็นศาสนาของตน เอเชียกลางวันนี้นับจากอิหร่านไปถึงรัสเซีย จากทะเลสาบแคสเปียนไปจนถึงจีนประกอบด้วย 5 ประเทศ ได้แก่ คาซักสถาน อุซเบกิสถาน เติร์กเมนิสถาน ทาจิกิสถาน กีร์จิสถาน ประชากรมากกว่า 80% หรือ 55 ล้านคนเป็นมุสลิม ส่วนใหญ่เป็นชนเชื้อสายเติร์ก เว้นแต่ทาจิกิสถานที่มีเชื้อสายเปอร์เซียผสมเติร์ก การแบ่งแยกเป็นสายสุนหนี่-ชีอะฮฺแม้มีแนวคิดมาตั้งแต่ต้นแต่ปรากฏผลจริงจังเมื่อครั้งตั้งราชวงศ์ซาฟาวิด (Safavid) ใน ค.ศ.1501 ที่แยกออกจากจักรวรรดิอุสมานียะฮฺทั้งซาฟาวิดและอุสมานียะฮฺแม้เป็นชนเผ่าเติร์กด้วยกันทว่าเกิดความขัดแย้งทางการเมือง มีการนำประเด็นทางศาสนามาใช้แบ่งแยกประชาชนออกเป็นสุนหนี่-ชีอะฮฺเพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมืองและความมั่นคงให้กับอาณาจักรที่ตั้งขึ้นใหม่ ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้นย้อนกลับไปก่อนเกิดประเด็นสุนหนี่-ชีอะฮฺ หลังการจากไปของท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) ชนอาหรับจากทะเลทรายอาระเบียหลั่งไหลขึ้นสู่ภาคเหนือรวมเข้ากับชนอาหรับในพื้นที่เมโสโปเตเมียที่มีอยู่เดิมโดยเริ่มตั้งแต่ยุคสมัยของคอลีฟะฮฺอุมัร อิบนฺคอฏฏอบ (ร.ฎ.) (ค.ศ.634-644) กระทั่งย้ายเมืองหลวงจากมะดีนะฮฺสู่ดามัสกัสในยุคสมัยของอาณาจักรอุมัยยะฮฺ (ค.ศ.651-750) และแบกแดดในยุคสมัยของอาณาจักรอับบาสิยะฮฺ (ค.ศ.750-1258) อิสลามช่วยประสานชนอาหรับเข้ากับชาวเปอร์เซียในอาณาจักรซัสซานิดเดิมและชนชาวเติร์กในเอเชียกลาง จุดเปลี่ยนที่ทำให้อิทธิพลของอิสลามแผ่ขยายเข้าไปคลุมพื้นที่เอเชียกลางคือผลของการรบระหว่างอับบาสิยะฮฺกับราชวงศ์ถังของจีนที่เมืองทาลัส (Battle of Talas) ใน ค.ศ.751 เมืองนี้ปัจจุบันตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของประเทศกีรจิสถาน ชัยชนะของทัพมุสลิมเวลานั้นทำให้จีนถอนตัวออกจากพื้นที่ไปจนหมด ช่วงกลางจักรวรรดิอับบาสิยะฮฺ ความรุ่งเรืองด้านวิทยาการทั้งสาขาวรรณกรรม ศิลปะศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เกิดขึ้นทั่วโลกอิสลาม อย่างไรก็ตามเกิดความเปลี่ยนแปลงอีกด้านหนึ่งนั่นคือตำแหน่งคอลีฟะฮฺที่เคยเป็นผู้ปกครองจักรวรรดิค่อยๆเปลี่ยนสภาพไปเป็นเพียงผู้นำทางศาสนาในขณะที่จักรวรรดิปริแตกเป็นอาณาจักรย่อยๆ การปกครองกระจายจากส่วนกลางในแบกแดดไปสู่เมืองใหญ่ที่ต่างตั้งสุลต่านและอามิรขึ้นเป็นผู้นำมีอาณาจักรและกองทัพของตนเอง ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดขึ้นในจักรวรรดิอิสลามรวมไปถึงพื้นที่ในเอเชียกลางด้วย การสร้างจักรวรรดิของชนชาวเติร์กซ้อนเข้ามาในอาณาจักรมุสลิมหลังจากนั้นจึงเป็นผลมาจากการแตกสลายของจักรวรรดิอับบาสิยะฮฺที่กล่าวถึงข้างต้นนี่เอง #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *