ฉลองปีใหม่ 1 มกราคมเป็นประเพณีหรือศาสนา

การเฉลิมฉลองปีใหม่เกี่ยวข้องกับปฏิทินมากกว่าศาสนา เป็นกันมาตั้งแต่ยุคโบราณโดยในอดีตเป็นเรื่องของการเพาะปลูกเสียมากกว่า ส่วนศาสนานำเข้ามาปะปนในภายหลัง ย้อนกลับไปดูชาติในอารยธรรมเก่าไม่ว่าจะเป็นอียิปต์ เมโสโปเตเมีย กรีก โรมัน จีน อินเดีย อาหรับหรือแม้กระทั่งพวกแอสเตค มายา อินคา ในทวีปอเมริกา ล้วนมีปฏิทินเป็นของตนเองเพื่อความสะดวกในการกำหนดวันเพาะปลูก ของไทยเราก็มีการจัดทำปฏิทินทั่วไปมีสองระบบคือนับตามดวงจันทร์หรือจันทรคติ กับนับตามดวงอาทิตย์หรือสุริยคติ ชาติโบราณรวมทั้งไทยจัดทำปฏิทินตามจันทรคติ กำหนดหนึ่งเดือนมี 29-30 วัน ครบ 12 เดือนจึงนับเป็นหนึ่งปี ความยุ่งยากเกิดขึ้นเมื่อนำเอาปฏิทินจันทรคติไปใช้กับการเพาะปลูกทำให้ต้องเพิ่มเดือนกันทุกสามปีเนื่องจากดวงจันทร์โคจร 12 ครั้งทำให้หนึ่งปีมี 354 วันแต่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ 365 วัน ต่างกัน 11 วันต่อปี หรือ 33 วันต่อสามปี เหตุนี้จึงต้องเพิ่มเดือนเข้าไปหนึ่งเดือนทุกสามปีกระทั่ง 800 ปีก่อนคริสตศักราช ชาวโรมันเป็นชนชาติแรกที่เปลี่ยนปฏิทินจากจันทรคติเป็นสุริยคติโดยกำหนดหนึ่งปีมี 365 วัน ใช้กันมา 700 ปีถึงยุคของจูเลียสซีซาร์มีการปรับปฏิทินกันอีกครั้งเกิดปฏิทินแบบจูเลียน (Julian calendar) ขึ้น กำหนดให้หนึ่งปีมี 365.25 วัน กระทั่งถึง ค.ศ.1582 สันตปาปาเกรกอรีที่ 13 ปรับปฏิทินอีกครั้งเพื่อให้แม่นยำโดยยึดจากการคำนวณว่าโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ใช้เวลาจริง 365.2425 วันต่างจากเดิม 0.002% เกิดเป็นปฏิทินแบบเกรกอรี (Gregory calendar) ใช้กันมาจนทุกวันนี้เรื่องปฏิทินก็เรื่องหนึ่ง การฉลองปีใหม่วันที่ 1 มกราคมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ในอดีตฉลองปีใหม่กันตามวันเริ่มเพาะปลูกเป็นมีนาคมบ้าง เมษายนบ้างแล้วแต่พื้นที่ ส่วนการฉลองปีใหม่ตามปฏิทินสุริยคติให้เป็นวันที่ 1 มกราคมนั้น แม้จักรวรรดิโรมันจะเปลี่ยนปฏิทินโดยกำหนดให้วันที่ 1 มกราคมเป็นวันปีใหม่แต่ชาวบ้านก็ไม่ฉลอง ต่อมาใน ค.ศ.313 จักรวรรดิโรมันนำศาสนาคริสต์มาเป็นศาสนาของจักรวรรดิ การฉลองปีใหม่วันที่ 1 มกราคมก็ยังไม่เกิด การฉลองปีใหม่จึงเป็นเรื่องของชาวบ้านมากกว่าเรื่องของอาณาจักรหรือศาสนจักรเปลี่ยนปฏิทินกันไปเป็นร้อยปี ชาวบ้านในจักรวรรดิโรมันจึงค่อยๆเปลี่ยนการฉลองปีใหม่จากวันเริ่มการเพาะปลูกมาเป็นวันที่ 1 มกราคม กระทั่งถึงกลางศตวรรษที่ 6 คือ ค.ศ.567 ศาสนจักรจึงเริ่มฉลองปีใหม่ตามชาวบ้าน ขณะที่การฉลองปีใหม่แบบเก่าคือใช้วันเริ่มการเพาะปลูกก็ยังไม่เลิก ผ่านไปจนถึง ค.ศ.1582 เมื่อมีการใช้ปฏิทินเกรกอเรียน การฉลองปีใหม่ตรงกันทั้งอาณาจักรกับศาสนจักรในวันที่ 1 มกราคมจึงเริ่มในปีนั้น การฉลองปีใหม่วันที่ 1 มกราคมจึงเป็นประเพณีไม่ใช่ศาสนา กระทั่งในภายหลังนั่นแหละที่แต่ละศาสนาซึ่งยึดชาวบ้านเป็นหลักเริ่มนำศาสนาเข้าไปเกี่ยวข้องกับวันปีใหม่คือวันที่ 1 มกราคม ขณะที่การเคาท์ดาวน์กลางดึกคืนวันที่ 31 ธันวาคมเป็นเรื่องสนุกๆที่เกิดขึ้นในยุคใหม่นี่เอง #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #ปีใหม่

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *