จากดีเอ็นเอมืดสู่จักรวาลมืด เรียนรู้ลึกซึ้งเรื่องศาสนาผ่านวิทยาศาสตร์

วันอาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 ผมได้รับเชิญไปเป็นประธานเปิดงานน้ำชาการกุศลมัสยิดอิดดฮาดร์อูลูมุดดีน ถนนราษฎร์อุทิศ 17 เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ ของท่านอิหม่ามวุฒิวัย หวังบู่ พื้นที่แถบนั้นพัฒนารวดเร็วกระทั่งกลายเป็นส่วนขยายของกรุงเทพฯทางตะวันออกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว งานคนแน่นมาก ขายอาหารอร่อยกันหลายสิบเจ้า อาหารหลายชนิดที่ไม่คิดจะได้กินก็ได้กิน ผมใช้เวลาบรรยายสั้นๆเรื่องอิสลามกับวิทยาศาสตร์ ระบุถึงคัมภีร์อัลกุรอานเฉพาะส่วนที่บัญญัติไว้ในบทที่ 96 วรรคที่ 6-8 ที่ว่าอัลลอฮฺ (ศุบฮาฯ) ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้ ทว่ามนุษย์ละเมิดขอบเขตของตนเองเสมอ ด้วยเข้าใจว่าตนมีความรู้เพียงพอแล้วในการบรรยาย ผมกล่าวถึงสายพันธุกรรมดีเอ็นเอของมนุษย์ ที่นักวิทยาศาสตร์ถอดรหัสได้สำเร็จว่ามีจำนวน 3 พันล้านคู่เบส ทำให้ได้รู้จักยีนกว่า 21,000 ยีน ทว่ามนุษย์กลับเข้าใจความหมายของมันเพียง 1.5% กับอีก 8% ที่เป็นเขตโดยรอบ ยังมี 90% ที่นักวิทยาศาสตร์ไม่เข้าใจว่ามันทำหน้าที่อะไร อาจเรียกว่าเป็นดีเอ็นเอมืดก็ไม่ผิด เมื่อมองขึ้นไปยังท้องฟ้าขยายไปจนทั่วจักรวาล นักดาราศาสตร์ประมาณการณ์ว่าดวงดาวทั้งหมดมีจำนวน 1×10 ยกกำลัง 29 หรือแสนล้านล้านล้านล้านดวง คิดเป็นมวลทั้งหมดของจักรวาลเพียง 5% อีก 95% นักวิทยาศาสตร์เรียกว่าส่วนของพลังงานมืดและสสารมืดจะเรียกว่าเป็นจักรวาลมืดก็ได้ เหล่านี้เองคือสิ่งที่มนุษย์ไม่รู้แต่มักทึกทักเอาว่าตนรู้ทั้งหมดกรณีของจักรวาล นักดาราศาสตร์เชื่อว่าจักรวาลมืดที่มนุษย์ไม่รู้จักเหล่านั้นทำหน้าที่สำคัญในการสร้างความมั่นคงของจักรวาลไว้ เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาในร่างกายมนุษย์ นักชีววิทยาโมเลกุลหลายกลุ่มเชื่อว่าดีเอ็นเอมืดที่มีมากกว่าร้อยละ 90 ทำหน้าที่ไม่ต่างจากจักรวาลมืดนั่นคือรักษาความมั่นคงของชีวิต เป็นไปได้หรือไม่ที่ดีเอ็นเอมืดเหล่านั้นทำหน้าที่เสมือนจิตวิญญาณให้กับร่างกายเชิงฟิสิกส์ ขณะที่จักรวาลมืดทำหน้าที่คล้ายจักรวาลเชิงจิตวิญญาณที่รักษาความเป็นเอกภพไว้ นักวิทยาศาสตร์ในวันนี้ยอมรับแล้วว่าการคงอยู่ของพันธุกรรมขึ้นอยู่กับดีเอ็นเอมืดที่มนุษย์เองรู้จักน้อยมาก ขณะเดียวกันการคงอยู่ของจักรวาลต้องอาศัยจักรวาลมืดที่มนุษย์เองแทบไม่รู้จัก เป็นเฉกเช่นเดียวกันพิจารณาในร่างกาย ส่วนที่ลึกลับที่สุดสำหรับมนุษย์คือจิตวิญญาณ (spirit) คำอธิบายถึงส่วนนี้อาจซ่อนอยู่ในดีเอ็นเอมืดก็ได้ ฉันใดฉันนั้นในกรณีพระผู้เป็นเจ้าที่มนุษย์แทบไม่รู้จัก อาจมีคำอรรถาธิบายซ่อนอยู่ในจักรวาลมืดก็ได้เช่นเดียวกัน จึงจำเป็นที่นักวิทยาศาสตร์กับนักวิชาการศาสนาต้องช่วยกันศึกษาให้รู้แจ้ง ย้อนกลับมาที่คำสอนของอิสลาม มนุษย์ต้องรักษาสมดุลของสองส่วนไว้นั่นคืออะกีดะฮฺ (العقيدة Aqidah) หรือหลักศรัทธา และชารีอะฮฺ (الشريعة Shariah) หรือหลักปฏิบัติ โดยส่วนหลังกำหนดหน้าที่ของมนุษย์ไว้สองส่วนคืออิบาดาต (العبادات Ibadat) หน้าที่ต่อพระผู้เป็นเจ้า และมุอามาลาต (معاملات Muamalat) หน้าที่ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ดูจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์วันนี้ คลับคล้ายว่าวิทยาศาสตร์กำลังช่วยฝ่ายศาสนาชี้ให้มนุษย์ได้เข้าใจถึงแก่นธรรม แสดงถึงความกลมกลืนกันระหว่างศาสนากับวิทยาศาสตร์ได้อย่างน่าสนใจ#ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #วิทยาศาสตร์กับอิสลาม, #จากดีเอ็นเอสู่จักรวาล

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *