คุณภาพของสังคม ทุกเรื่องเกี่ยวข้องกันหมด

เดือนเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ.2541 เวลานั้นผมดำรงตำแหน่งรองคณบดีเข้าอบรมผู้บริหารระดับกลางของมหาวิทยาลัย หนึ่งในชั่วโมงบรรยาย อาจารย์วิทยากรเล่าให้ฟังว่าทางอังกฤษส่งเจ้าหน้าที่ด้านมาตรฐานความปลอดภัยอาหารมาทวนสอบโรงงานอาหารแห่งหนึ่งในประเทศไทยทั้งๆที่มีใบรับรองมาตรฐานออกโดยหน่วยราชการของไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เหตุผลที่ไม่ยอมรับใบรับรองมาตรฐานของไทยในเวลานั้น อาจารย์วิทยากรเล่าว่าเนื่องจากคนงานไทยขโมยเพชรซาอุ ตำรวจระดับสูงพบเพชรแล้วนำไปส่งคืนซึ่งพบภายหลังว่าเป็นเพชรปลอม กลายเป็นว่าคนไทยมีข้อสงสัยว่าทุจริตตั้งแต่ระดับล่างขึ้นไปจนถึงระดับบน ภาพลักษณ์เช่นนี้เองทำให้มาตรฐานอาหารจากประเทศไทยถูกทวนสอบซ้ำอีกครั้ง ทั้งๆที่เป็นคนละเรื่องแท้ๆผมเคยเขียนถึงเพื่อนจากยุโรปนั่งรถไปตามท้องถนนในกรุงเทพฯ เห็นมอเตอร์ไซด์ขี่ย้อนศรโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยปละ ผู้ขับรถบนท้องถนนไม่แสดงปฏิกิริยาต่อต้าน เพื่อนถามผมว่าประเทศไทยจะสร้างคนรุ่นใหม่อย่างไรจากการปล่อยปละพฤติกรรมไม่เคารพกฎหมายในลักษณะนี้ให้เกิดขึ้นตำตา เขาให้ความเห็นว่าพฤติกรรมของคนในสังคมเป็นสิ่งสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ฟังแล้วต้องยอมรับว่าจริง บ่อยครั้งเราปล่อยปละให้เรื่องที่ควรผิดปกติซึ่งสังคมไม่ควรยอมรับให้กลายเป็นเรื่องปกติ โดยคนทั่วไปในสังคมยอมรับด้วยสารพัดข้อแก้ตัว ยากจนบ้าง ขาดโอกาสบ้าง เรื่องเล็กบ้าง ทำนองนั้น กรณีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องนายบอสคดีขับรถชนตำรวจเสียชีวิตโดยตำรวจไม่แย้งคำสั่งซึ่งทางคณะกรรมการตรวจสอบที่นำโดยคุณวิชา มหาคุณ ทำรายงานส่งนายกรัฐมนตรีเป็นอีกกรณีหนึ่งที่สะท้อนคุณภาพของสังคมไทยไม่ต่างจากกรณีที่อังกฤษส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาทวนสอบมาตรฐานการรับรองอาหารในบ้านเราที่เล่าข้างต้นสักเท่าไหร่ สิ่งเหล่านี้สร้างคะแนนสะสมเชิงลบให้กับสังคมไทย ทำให้คนไทยทุกคนได้รับผลกระทบ เมื่อครั้งผมเรียนและทำงานในต่างประเทศ หลายครั้งถูกตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบินบ้าง สถานีรถไฟบ้าง ในเมืองบ้างด้วยข้อสงสัยเพียงแค่ถือพาสปอร์ตประเทศไทย เพื่อนที่เป็นสุภาพสตรีหลายคนโดนหนักกว่านั้นจากข้อสงสัยว่าอาจเข้าไปขายบริการทางเพศ ทั้งหมดเป็นภาพลักษณ์ที่คนไทยคนอื่นสร้างไว้ทั้งนั้น ทว่ากระทบกับคนไทยทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ฉันใดฉันนั้นกรณีการขายเนื้อหมูเป็นเนื้อวัวที่เกิดขึ้นในสังคมมุสลิมเมื่อไม่นานมานี้ หากยังหาทางแก้ไขไม่ได้ อาจส่งผลกระทบต่อตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาลจากประเทศไทยไปยังกลุ่มประเทศมุสลิม เรื่องนี้เป็นคนละเรื่องกับการรับรองฮาลาลเนื่องจากเนื้อวัวที่ถูกปลอมแปลงมิได้มีการรับรองฮาลาล แต่เป็นเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภคที่ปัจจุบันในบ้านเรายังง่อยเปลี้ยเสียขาจากการที่ภาครัฐนำเอาอำนาจไปครอบครองไว้ ขาดความไว้วางใจภาคประชาชนในการปกป้องคุ้มครองกันเอง เห็นกันชัดๆว่าเรื่องคุณภาพของสังคมไม่มีเรื่องไหนไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องไหน หากภาครัฐปล่อยอำนาจให้ประชาชนช่วยตรวจสอบกันบ้าง ช่วยดูแลกันเองบ้าง เราก็คงไม่ต้องเหนื่อยอย่างช่วงเวลาที่ผ่านมา

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *