คอฟฟี่เบรก (Coffee break) คืออะไร ทำไมต้องมี

ประสบการณ์ชีวิตของผม มีโอกาสทำงานในหลายประเทศ สั้นบ้าง ยาวบ้าง ทั้งในเบลเยี่ยม เยอรมัน สหรัฐอเมริกา แคนาดา อิสราเอล ญี่ปุ่น ได้เห็นวัฒนธรรมการทำงานของผู้คนในหลากหลายประเทศ วัฒนธรรมร่วมอย่างหนึ่งที่เห็นในสถานที่เหล่านั้นโดยแทบไม่เคยเห็นในเมืองไทยคือในที่ทำงานมีช่วงเวลาว่างที่เรียกว่า “พักกาแฟ” หรือ “คอฟฟีเบรก” (Coffee break) สองช่วงต่อวันคือช่วงเช้ากับช่วงบ่าย โดยทุกคนจะผละจากงานออกไปรวมตัวกันอยู่ในห้องกาแฟ ดื่มชากาแฟร่วมกัน พบปะพูดคุยกันเล็กน้อย ใช้เวลาสัก 15 นาที จากนั้นจึงกลับไปเริ่มต้นทำงานกันใหม่ ใครจะมองว่าทำอย่างนั้น สังคมจะไม่เจริญก้าวหน้าก็คงไม่ถูก เพราะทุกประเทศที่กล่าวถึง ความเจริญของประเทศเขาทิ้งประเทศเราไม่เห็นฝุ่นไปเนิ่นนานแล้ว เหตุผลของการมีคอฟฟี่เบรกวันละสองครั้งเช่นนั้น ดร.สตีเวน มิลเลอร์ (Steven Miller) แห่ง Uniformed Services University of the Health Sciences เมืองเบเธสดา รัฐแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา อธิบายไว้ว่าเป็นเวลาที่กำหนดโดยนาฬิกาชีวิต (Biological clock) โดยในสมองส่วนไฮโปธาลามัส มีบริเวณแคบๆที่เรียกว่า suprachiasmatic nucleus หรือ SCN ทำหน้าที่ควบคุมนาฬิกาชีวิตไว้ไม่ว่ายามหลับหรือตื่น มีการหลั่งฮอร์โมนอย่างเช่น คอร์ติซอล ออกมาตามช่วงเวลา ถึงเวลาหนึ่งฮอร์โมนเหล่านี้ลดปริมาณลง จึงสมควรได้รับการกระตุ้น นาฬิกาชีวิตนี้เองที่เป็นเหตุผลทำให้แพทย์แนะนำเวลาการให้ยาสำหรับผู้ป่วย กรณีคนธรรมดา การทำงานของนาฬิกาชีวิตไม่ต่างกัน ในกาแฟหรือชาหรือโกโก้มีสารกาเฟอีน (Caffeine) ที่ออกฤทธิ์อ่อนๆต่อระบบประสาท การดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้ช่วยให้ประสาทตื่นตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ฮอร์โมนคอร์ติซอลลดต่ำลง เกิดอาการง่วงเหงาหรือเบื่อหน่าย หากกระตุ้นด้วยสารกาเฟอีนย่อมช่วยให้เกิดอาการสดชื่นกระปรี้กระเปร่า อันเป็นผลจากฤทธิ์ของสารกาเฟอีนที่มีต่อสมอง งานวิจัยพบว่าระหว่างวันของคนที่ทำงานตามปกติคือทำงานเวลากลางวันและพักผ่อนในเวลากลางคืน คอร์ติซอลจะหลั่งออกมาสูงสุดในเวลา 8-9 โมงเช้าช่วงหนึ่ง ช่วงเที่ยงถึงบ่ายโมงหรือ 12-13 น.อีกช่วงหนึ่ง หลังจากนั้นจึงเป็นช่วงเย็น 17.30-18.30 น. ช่วงเวลาเหล่านั้นสมองตื่นตัวอยู่แล้ว การดื่มกาแฟหรือชาช่วงเวลานั้นจะไม่ให้ประโยชน์มากนัก ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการกระตุ้นจึงมีสองช่วงคือระหว่าง 9.30-11.30 น.และ 14.30-16.30 น.ซึ่งสมองเริ่มออกอาการซึม การกระตุ้นด้วยสารกาเฟอีนย่อมช่วยให้เกิดอาการสดชื่นขึ้นได้ข้อดีอีกประการหนึ่งของการพักชากาแฟคือได้พบปะสังสรรค์ระหว่างเพื่อนร่วมงานด้วยกัน ซึ่งปรมาจารย์ด้านการบริหารชาวอเมริกันอย่าง ลี ไอเอคอคค่า (Lee Iacocca) แห่งอาณาจักรยานยนต์ และบิล เกตส์ (Bill Gates) แห่งอาณาจักรอินเตอร์เน็ตบอกไว้ว่าปัจจัยสำคัญในความสำเร็จขององค์กรคือความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรภายใน การพบปะสังสรรค์ของบุคลากรในสำนักงานเดียวกันตอนช่วงเวลาคอฟฟี่เบรกจึงเป็นปัจจัยหนึ่งในการสร้างความสำเร็จ คนระดับปรมาจารย์แนะไว้อย่างนั้น #ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #คอฟฟีเบรก, #coffeebreak

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *