ความสำเร็จด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลของประเทศไทยในงาน GMBF

วานนี้ (พฤหัสบดีที่ 30 พฤศจิกายน 2566) ผมบรรยายในงาน 2023 Global Muslim Business Forum (GMBF) จำนวนผู้ฟังตามที่ผู้จัดแจ้งคือพันคน มองคร่าวๆไม่น่าจะถึงแต่ก็เกินห้าร้อยคน จึงนับเป็นงานใหญ่ งานจัดที่ Borneo Convention Centre Kuching เมืองกูชิง รัฐซาราวัก ของมาเลเซีย ส่วนที่ผมร่วมบรรยายว่าด้วยมุสลิมในโลกที่ประสบความสำเร็จในสาขาต่างๆ ที่ประชุมขอให้เล่าเรื่องของตนเองพร้อมบทเรียนที่ได้มาเพื่อแลกเปลี่ยนกับผู้อื่น งานว่าด้วยธุรกิจทว่าผมได้รับเชิญไปในฐานะนักวิทยาศาสตร์ที่นำเอาประสบการณ์ของตนเองพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลเพื่อสนับสนุนกระบวนการรับรองฮาลาลให้มั่นใจว่าปราศจากการปนเปื้อน ซึ่งโลกทุกวันนี้การปนเปื้อนสิ่งที่ไม่ต้องการในผลิตภัณฑ์อาหารเชิงธุรกิจ เห็นไม่ได้ด้วยตาจึงต้องใช้วิทยาศาสตร์ตรวจสอบผมเริ่มการบรรยายว่าผมเริ่มงานด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อปกป้องผู้บริโภคมุสลิมใน พ.ศ.2538 กระทั่งถึง พ.ศ.2546 เมื่อรัฐบาลไทยตระหนักถึงความสำคัญของเศรษฐกิจฮาลาลที่มีมูลค่ามหาศาลทั่วโลก เห็นว่าประเทศไทยเมื่อไม่ใช่ประเทศมุสลิมสมควรใช้วิทยาศาสตร์เป็นตัวสนับสนุนกระบวนการรับรองฮาลาลรัฐบาลจึงอนุมัติงบประมาณให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาลเต็มรูปแบบขึ้น ผมจึงเริ่มศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลที่พรั่งพร้อมด้วยกำลังคนและอุปกรณ์ขึ้นเป็นเรื่องเป็นราวได้นับแต่นั้นงานวิทยาศาสตร์ฮาลาล บางคนอาจเข้าใจว่าเน้นไปที่กระบวนการตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ซึ่งไม่ถูกต้อง กระบวนการสำคัญคือการจัดระบบบริหารจัดการด้านการผลิตอาหารฮาลาลในภาคอุตสาหกรรมเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานฮาลาลและปลอดสิ่งปนเปื้อน เรียกกระบวนการที่ว่านี้ว่า “การมาตรฐานฮาลาล” (Halal standardization) ผมพัฒนากระบวนการที่ว่านี้มาตั้งแต่ พ.ศ.2540 ตั้งชื่อว่า “HAL-Q” กระทั่งถึง พ.ศ.2549 รัฐบาลมาเลเซียเชิญผมไปรับรางวัลในฐานะผู้พัฒนากระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล พร้อมเชิดชูศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) ว่าคือห้องปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลแห่งแรกในโลก นี่คือเกียรติยศและประสบการณ์ที่ผมนำไปแลกเปลี่ยนในที่ประชุมทำงานพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลมานานเกินยี่สิบปี ผมได้รับรางวัลมากมายทั่วโลก สำคัญคือการยกย่องจากรัฐบาลจอร์แดนว่าเป็น 1 ใน 500 มุสลิมที่ทรงอิทธิพลของโลก (500 World’s Most Influential Muslims)ต่อเนื่องยาวนาน 15 ปีติดต่อกันนับแต่ ค.ศ.2010 กระทั่งถึง ค.ศ.2024 ปีหน้า มีประเทศต่างๆมากกว่าสิบประเทศใช้บริการด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลของ ศวฮ. ทั้งมีมากกว่า 200 มหาวิทยาลัยในโลกเข้ามาทำความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลกับ ศวฮ. ต้องขอบคุณทางผู้จัด GMBF ที่เชิญผมไปร่วม ขอบคุณทางสมาคมการค้านักธุรกิจไทยมุสลิม (Thai Muslim Trade Association หรือ TMTA) ที่ส่งชื่อผมไปยัง GMBF เพื่อบรรยายในงานนี้ #ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #GMBFNovember2023, #TMTA, #500worldmostinfluentialmuslims

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *