คนไทย มรดกการกลมกลืนทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษ

เมื่อวานพุธที่ 18 ตุลาคม 2566 ศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานประชุมวิชาการด้านมุสลิมศึกษาครั้งที่ 1 มีศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล (ศวฮ.) ร่วมเป็นเจ้าภาพ หัวข้อเน้นไปที่การเปลี่ยนผ่านสังคมมุสลิมไทยในรอบร้อยปีที่ผ่านมา มีผมเป็นหนึ่งในผู้บรรยายหลักโดยผู้จัดมอบหมายให้ผมเน้นไปที่งานการพัฒนาวิทยาศาสตร์ฮาลาลที่วันนี้เป็นที่รู้จักกันทั่วทั้งโลก ถิ่นกำเนิดของวิทยาศาสตร์ฮาลาลเริ่มต้นขึ้นที่ ศวฮ.นี่เอง มีบันทึกไว้ในนิตยสาร Halal Journal ของมาเลเซียกลาง ค.ศ.2006ผมเริ่มการบรรยายด้วยการตั้งคำถามถึงความพิเศษของสังคมไทย เหตุใดแผ่นดินนี้จึงสร้างมรดกที่เป็นผลให้ทุกคนที่ถือกำเนิดในแผ่นดินนี้เกิดความรู้สึกร่วมขึ้นมาได้ว่าตนเองเป็นคนไทยไม่ว่าจะสืบเชื้อสายดั้งเดิมจากชนชาติไหน แนวคิดเชิงวัฒนธรรมที่สืบทอดมาในแผ่นดินนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ผมเองเดินทางมาทุกทวีป มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนไม่น้อยกว่า 50 ชาติ กรอบคิดลักษณะนี้ปรากฏโดดเด่นในบ้านเราเท่านั้น ผมเรียนหนังสือในกรุงเทพฯมาตั้งแต่เด็ก ผ่านโรงเรียนไทย โรงเรียนมุสลิม จีน อินเดีย มีเพื่อนที่มีพื้นเพมาจากหลากเชื้อชาติ และศาสนาทั้งซิกข์ ฮินดู คริสต์ พุทธ ทุกคนนับตนเองเป็นคนไทยทั้งหมด ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น นี่คือคำถามที่เกิดขึ้นในใจของผมคำถามนี้มีมาเนิ่นนานหลายสิบปี กระทั่งได้ติดตามเรื่องราวของ “ศรีเทพ” ที่การค้นพบเชิงโบราณคดี ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมนับย้อนหลังไปได้หลายพันปีกระทั่งยุคก่อนประวัติศาสตร์ วิเคราะห์กันให้ลึกซึ้ง คำตอบที่ได้จะเป็นเช่นที่ผมเขียนไว้ในสไลด์ที่ใช้บรรยายดังนี้ “อังคาร 19 กันยายน พ.ศ.2566 ศรีเทพได้รับการรับรองจาก UNESCO ให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมแหล่งที่ 4 ของประเทศไทย หลักฐานทางประวัติศาสตร์ ภูมิรัฐศาสตร์ โบราณคดี กระทั่งพันธุศาสตร์โมเลกุล ให้องค์ความรู้ใหม่ว่าสุวรรณภูมิคือเตาหลอมรวมชุมชนกลุ่มต่างๆ ทั้งมอญจากตะวันตก ไท จีนจากเหนือ ลาว เขมร จากตะวันออก อินเดีย มลายูจากใต้ ผสมกลมกลืนกันหลายกลุ่ม” “กระทั่งพุทธศตวรรษที่ 8-11 ศรีเทพเกิดรูปแบบการปกครองโดยกลุ่มชนในพื้นที่ร่วมกับกลุ่มชนที่เคลื่อนย้ายมาจากหลายทิศทาง ผสมกลมกลืนกันทางชนชาติ วัฒนธรรม ภาษา ศาสนาแปรจากผีเป็นพุทธ ฮินดู กลับไปมา ภาษาแปรเปลี่ยนจากพื้นถิ่น สู่มอญ ขอม เขมร ลาว ไท สร้างบ้านแปลงเมืองซ้อนทับกันผ่านยุคสมัย ความกลมกลืนนี้ส่งผ่านสู่ยุคสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี รัตนโกสินทร์ คนไทยในแผ่นดินไทยจึงเป็นผลผลิตแห่งการกลมกลืนกันทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม ศาสนา ภาษา” คำว่าคนไทยจึงหมายถึงผู้สืบทอดมาจากชนหลายเชื้อชาติผสมผสานกลมกลืนกันมานานนับพันปี สร้างความยืดหยุ่น (Resilient) ให้เกิดขึ้นในสังคมกระทั่งกลายเป็นวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกลงในจิตใจของผู้คนที่ถือกำเนิดบนแผ่นดินนี้ มุสลิมอย่างผมที่แม้มีเชื้อสายอินโดนีเซีย จีน ไทย ผสมกลมกลืนกันเมื่อถือกำเนิดในแผ่นดินนี้จึงรับวัฒนธรรมวิธีคิดเช่นนี้ไว้ด้วยไม่ต่างกัน นี่เองคือคำตอบของผม #ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #คนไทยมรดกการกลมกลืนทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *