กินป้องกันอัลไซเมอร์

เมื่อวานวันที่ 21 กันยายน ถูกกำหนดให้เป็น “#วันอัลไซเมอร์โลก” (#World Alzheimer’s Day) ว่าจะเขียนถึงทว่างานยุ่งจนพลาด แต่ไม่เป็นไร เพราะกันยายนทั้งเดือนถูกกำหนดให้เป็นเดือนอัลไซเมอร์โลก กำหนดทั้งวันทั้งเดือนอย่างนั้นก็เพื่อให้ผู้คนหันมาสนใจปัญหาของสุขภาพสมองที่นับวันจะมีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุค่อนตัวแล้ว อีกไม่นานร้อยละ 20 ของประชากรไทยจะเป็นผู้สูงวัยที่มีอายุเกิน 60 ปี คนกลุ่มนี้เสี่ยงที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อมที่อาจรุนแรงถึงระดับโรคสมองเสื่อมจึงต้องใส่ใจกันหน่อย ย้อนหลังกลับไปเกินยี่สิบปีมาแล้ว คนไทยภาคภูมิใจกับผลงานการวางแผนครอบครัว สามารถลดอัตราการเกิดจากร้อยละ 3 เหลือ 0.3 ต่อประชากร ในอดีตคือความสำเร็จยิ่งใหญ่ มาวันนี้เกิดผลกระทบแล้วโดยเราหาแรงงาน กำลังสมอง พลังทางเศรษฐกิจทดแทนส่วนที่หายไปไม่ได้ ปัญหาเกิดขึ้นแล้วก็ต้องแก้ไขกันไปเรื่องของโรคทางสมอง ในภาษาอังกฤษมีชื่อเรียกที่มักใช้ปะปนกันจนสับสน ที่ได้ยินบ่อยคือ “ดีเมนเชีย” (Dementia) หรือ “#ภาวะสมองเสื่อม” อีกชื่อหนึ่งที่ได้ยินบ่อยเช่นกันคือ “#อัลไซเมอร์” (#Alzheimer’s) หรือ “#โรคสมองเสื่อม” คนในโลกประมาณ 50 ล้านคนเกิดภาวะสมองเสื่อมซึ่งแบ่งแยกย่อยเป็นหลายกลุ่ม โดยสองในสามของคนที่มีภาวะสมองเสื่อมเกิดปัญหาถึงระดับโรคอัลไซเมอร์ซึ่งเป็นโรคที่เกิดความผิดปกติในเนื้อสมองไม่ใช่เพียงภาวะหรืออาการเท่านั้น อัลไซเมอร์ก่อปัญหากับการใช้ชีวิตปกติ สูญเสียความเป็นตัวตนของตนเอง กลายเป็นภาระให้กับครอบครัว เกิดผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจมหาศาล เป็นโรคที่ก่อปัญหากับทั้งผู้ป่วยและญาติที่ต้องคอยดูแล การป้องกันนั้นดีกว่าการรักษาอย่างแน่นอน มีวิธีการหลายอย่างที่อาจลดความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมได้ เป็นต้นว่าลดปัญหาความดันโลหิตสูง ลดโรคอ้วน ป้องกันเบาหวาน ดูแลการได้ยิน ป้องกันโรคซึมเศร้า ออกกำลังกาย ไม่สูบบุหรี่ และการมีสังคม ปัจจุบันยังไม่มียาป้องกันโรคอัลไซเมอร์ ป้องกันโดยการใช้อาหารและโภชนาการน่าไว้จะดีที่สุดคลินิกมาโย (Mayo Clinic) สหรัฐอเมริกาให้ข้อแนะนำไว้ขอนำมาปรับสักหน่อย ดังนี้ (1) บริโภคธัญพืชทั้งเมล็ดทุกวันอย่างข้าวถ้าเป็นข้าวกล้องยิ่งดี (2) เพิ่มผักใบเขียวให้ได้ทุกมื้อ (3) ผักทั่วไปวันละครั้ง (4) เลือกผลไม้ไม่หวานทุกวัน (5) เลี่ยงเนื้อแดงทั้งเนื้อวัวเนื้อหมู (6) สัตว์ปีกเลือกได้โดยเลี่ยงไขมันและหนัง (7) ปลาเป็นตัวเลือกที่ดี (8) ถั่วเมล็ดแห้งเลือกให้บ่อย (9) เลือกนัทหรือถั่วเปลือกแข็ง (10) เลี่ยงและลดอาหารทอดหรือจานด่วน (11) ลดการใช้น้ำมันปรุงอาหารความร้อนสูง (12) ลดเนยหรือมาการ์รีน (13) ลดเนยแข็ง (14) ลดขนมหวาน (15) เลี่ยงเครื่องดื่มอัลกอฮอล์ พยายามทำให้ได้ก็แล้วกัน #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *