กว่าจะเป็นศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล วาระครบรอบ 20 ปี

ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) ฉลองครบรอบ 20 ปีไปแล้วเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2566 ส่วนวันพุธที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2566 ผมจะออกรายการ THA Academy ตอนที่ 100 ผ่านทางเฟซบุ้คแห่งนี้ จะเล่าความเป็นมาของ ศวฮ.ซึ่งถือวันสถาปนาตรงกับวันตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2546 ที่อนุมัติงบประมาณสามปีให้คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาลเพื่อสนับสนุนงานการรับรองฮาลาลขององค์กรศาสนาอิสลามในประเทศไทย แนวคิดการใช้ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ตรวจสอบสิ่งหะรอมหรือสิ่งต้องห้ามทางศาสนาอิสลามที่ปนเปื้อนในอาหารที่มุสลิมบริโภคเริ่มที่ตัวผมเองจากปัญหาที่ว่าก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่กินได้ไหมในเมื่อมีข่าวว่าเส้นก๋วยเตี๋ยวทาด้วยน้ำมันหมู คำถามนี้เกิดขึ้นในหมู่ผู้บริโภคมุสลิมในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2537 ผมจึงเดินทางไปที่มหาวิทยาลัยยูเอสเอ็ม ปีนัง มาเลเซีย ตั้งใจจะเรียนรู้เทคนิควิธีการตรวจสอบ ปรากฏว่าเทคนิคที่ว่านั้นไม่มีอยู่จริง สุดท้ายผมต้องพัฒนาเทคนิคด้วยตนเองกระทั่งพบว่าน้ำมันที่ใช้ทาคือน้ำมันมะพร้าวและน้ำมันปาล์ม งานชิ้นนี้ช่วยให้ผมพัฒนางานได้อีกมากมาย กระทั่งแปดปีต่อมาจึงได้รับงบประมาณสามปีจากรัฐบาลตามที่เล่าไว้กรณีฮาลาลหะรอม ผมนำ 4 โองการในสี่บทของอัลกุรอานมาใช้เป็นแนวทาง ได้แก่ บทที่ 2 อัลบาเกาะเราะฮฺ โองการที่ 168 ระบุว่ามนุษย์เอ๋ย จงเลือกบริโภคสิ่งที่อนุมัติที่ดี อย่าเดินตามรอยเท้ามารร้าย อิสลามแนะนำให้มนุษย์ทุกคนบริโภคอาหารที่ฮาลาล ปลอดภัย ต่อมา คือบทที่ 10 ยูนุส โองการที่ 59 ระบุว่าอัลลอฮฺทรงประทานเครื่องยังชีพแก่มนุษย์ แล้วมนุษย์จึงกำหนดให้หะรอมและหะลาล คำถามมีว่ามนุษย์กำหนดตามอัลลอฮฺที่อัลลอฮฺอนุมัติไว้หรือมนุษย์กำหนดขึ้นมาเอง การตัดสินฮาลาลหรือหะรอมจึงจำเป็นต้องทำด้วยความรู้แจ้ง ต่อมาคือบทที่ 21 อัลอัมบิยา โองการที่ 7 ระบุว่าอัลลอฮฺทรงส่งมนุษย์ที่ทรงประทานความรอบรู้มาให้ ความรู้เหล่านั้นแพร่ไปในแผ่นดิน ดังนั้นหากใครมีข้อสงสัยควรสอบถามผู้รู้ ในอัลกุรอานใช้คำว่าอัซซิกริหมายถึงผู้รู้ อัซซิกริมีความหมายลึกซึ้งว่าผู้รู้ที่เสมือนอาบความรู้หรือหมายถึงรู้แจ้ง ผู้รู้นั้นคือใคร พบได้ที่ไหน อัลกุรอานแนะนำไว้ในบทที่ 18 อัลกะฮฺฟฺ โองการที่ 60 โดยกล่าวถึงท่านศาสดามูซาเดินทางไปในทะเลทรายโดยไม่ยอมหยุดพักจนกว่าจะพบชุมทางแห่งสองทะเล ผู้รู้ทางคัมภีร์อธิบายว่าชุมทางแห่งสองทะเลอาจหมายถึงผู้รู้แจ้งในสองศาสตร์ที่แตกต่างกัน เคยมีผู้รู้ท่านหนึ่งบอกผมว่านักวิทยาศาสตร์ฮาลาลซึ่งรู้ทั้งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และรู้ในหลักการศาสนาอิสลามอาจนับเป็นอัซซิกริประเภทหนึ่ง จากสี่โองการนี้เองทำให้ผมตั้งเจตนาไว้ว่าจะสร้างอัซซิกริให้กับสังคม มาถึงวันนี้ ศวฮ.ผลิตนักวิทยาศาสตร์ระดับปริญญาเอกทางวิทยาศาสตร์ขึ้นแล้ว 7 คน ยังขาดองค์ความรู้ด้านหลักอิสลามที่เกี่ยวข้องเท่านั้น จึงตั้งความหวังไว้ว่าวันหนึ่งเราจะสามารถผลิตอัซซิกริขึ้นได้เพื่อให้เป็นที่พึ่งพิงแก่สังคม พวกเราที่ ศวฮ.ฝันกันไว้อย่างนั้น #ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #ความเป็นมาศวฮ, #ฮาลาลหะรอม, #อัลกุรอาน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *