กลไกปกป้องโลกจากอุกกาบาตในแง่มุมดาราศาสตร์

ดวงดาวที่เป็นดาวฤกษ์สร้างแสงในตนเอง (stars) ในจักรวาลมีนับเป็นจำนวนล้านล้านล้านดวง เกิดการชนกัน แตกดับ กำเนิดใหม่ตลอดเวลา โลกซึ่งเป็นดาวเคราะห์ไม่สร้างแสงในตนเอง (planets) มีขนาดแทบจะเป็นฝุ่นจึงเสี่ยงต่อการแตกดับค่อนข้างสูง ทว่าน่าอัศจรรย์ที่ระบบสุริยะอันมีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางพัฒนากลไกปกป้องโลกและดาวเคราะห์ภายในไว้อย่างชาญฉลาดทำให้อยู่รอดมานานกว่า 4.6 พันล้านปี

กลไกมีตั้งแต่การวางระยะห่างระหว่างดวงอาทิตย์กับดาวอื่นในกาแลกซีทางช้างเผือก การสร้าง Oort cloud กลุ่มเศษน้ำแข็งและเศษดาวจำนวนมหาศาลที่ทำหน้าที่ห่อหุ้มระบบสุริยะทั้งหมดไว้ กลุ่มเศษดาว (Meteoroids) บริเวณ Kuiper’s belt ขอบชั้นกลางของระบบสุริยะ ดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ (Huge planets) ชั้นนอกของระบบสุริยะ ดาวเคราะห์น้อยและเศษดาว (Asteroids & Meteoroids) ในแถบ Asteroid belt ระหว่างดาวพฤหัสกับดาวอังคารที่แรงดึงดูดของดาวพฤหัสดึงดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้ไว้กระทั่งเกิดดุลกับแรงดึงดูดมหาศาลจากดวงอาทิตย์ทำให้ไม่กลายเป็นห่าฝนดาวตกพุ่งถล่มโลก อีกทั้งยังมีชั้นบรรยากาศของโลกหนาแน่นที่เผาผลาญสะเก็ดดาวที่ผ่านเข้ามายังโลก แต่แม้ป้องกันกันถึงขนาดนี้ไม่วายที่โลกยังถูกถล่มด้วยเศษดาวตกกว่าปีละ 500 ลูก นับเฉพาะดวงใหญ่หน่อยโดยไม่นับสะเก็ดดาวที่เห็นเป็นผีพุ่งใต้ (Meteor) อีกนับจำนวนร้อยในแต่ละคืน

ดาวตกที่เรียกว่า “อุกกาบาต” (Meteoroid) ส่วนใหญ่ที่เข้าถล่มโลกถูกเผาจนไหม้เป็นจุลในชั้นบรรยากาศ หากไหม้ไม่หมดเหลือเป็นเศษดาวตก (Meteorites) พบเป็นหินบ้าง โลหะบ้าง ไม่มากนัก อุกกาบาตโด่งดังที่สุดที่ถล่มโลกมีชื่อว่า Chicxulub asteroid หรือดาวเคราะห์น้อยชิคซูลุบชนโลกเมื่อ 66 ล้านปีมาแล้วกระทั่งทำให้สิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ไป 3 ใน 4 รวมถึงไดโนเสาร์ที่สาบสูญไปพร้อมกันจนไม่เหลือ นอกจากนี้ยังปรากฏดาวเคราะห์น้อยถล่มโลกอีกหลายครั้ง ขนาดใหญ่กว่า Chicxulub คือ Vredefort ถล่มอัฟริกาใต้เมื่อสองพันล้านปีมาแล้ว Sudbury basin ที่แคนาดาเมื่อ 1.8 พันล้านปีมาแล้ว และยังมีอีกหลายลูก

ดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้เชื่อว่าคือบรรดาเศษดาวเคราะห์ที่หนาแน่นอยู่ในชั้น Asteroid belt จะเรียกว่าเป็นดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกก็ไม่ผิด โอกาสที่ดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้จะหลุดจากแรงดึงดูดของดาวพฤหัสจากการฉุดของแรงดึงดูดจากดวงอาทิตย์กระทั่งกลายเป็นอุกกาบาตผ่านเข้ามายังดาวเคราะห์ชั้นในแม้เกิดขึ้นน้อยครั้งแต่ไม่น้อยจนเกินไป โชคดีที่ดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้เมื่อใกล้หลุดจากแรงดึงดูดของดาวพฤหัสบ่อยครั้งมันถูกดาวเคราะห์น้อยด้วยกันที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกันพุ่งชนหรือกระแทกใส่กระทั่งระเบิดแตกกลายเป็นเศษดาว (Meteoroids) หลุดผ่านเข้ายังวงโคจรชั้นในโดยลดพิษสงลงไปมาก เมื่อพิจารณาแล้ว ดาวเคราะห์น้อยบางส่วนจึงทำหน้าที่คล้ายปกป้องโลกรวมถึงดาวเคราะห์ชั้นในยังไงยังงั้น นี่คือปรากฏการณ์มหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นในหมู่ดาวเคราะห์น้อยที่เป็นคล้ายตะเกียง (مَصَـٰبِيحَ) สะท้อนแสงจากดวงอาทิตย์ หรือจะเรียกแถบของดาวเคราะห์กลุ่มนี้ว่าสวรรค์ชั้นล่างหรือชั้นใกล้โลก (ٱلسَّمَآءَ ٱلدُّنۡيَا, nearest heaven) ก็น่าจะได้ กล่าวกันทางศาสนศาสตร์ (Theology) ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่พระผู้เป็นเจ้ากำหนดขึ้นเหล่านี้ล้วนปกป้องโลกไว้ เสียดายที่ปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์เองเป็นก่อกำลังทำลายโลกของเรา