งานใหม่ของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลที่นครนายก

วันเสาร์ ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2566 ตั้งแต่เวลา 18.00 เป็นต้นไป ผมเป็นประธานเปิดงาน “เมตตาดารุ้ล” เพื่อหาทุนซ่อมแซมมัสยิดและบำรุงการศึกษา ณ มัสยิดดารุ้ลอิสลาม คลอง 14 หมู่ที่ 7 ตำบลบึงศาล อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ร่วมเดินทางไปกับผมคืออาจารย์อาทร ดะห์ลัน ผู้จัดการมูลนิธิมุฮัมมะดียะฮฺ นายฮาซัม เจะบากอ เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์เรียนรู้ชุมชนด้านนวัตกรรมฮาลาล (HICOLEC) ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) สำนักงานจังหวัดนครนายก มีผู้ร่วมงานหลายร้อยคนบนเวทีผมแนะนำ HICOLEC ศวฮ. เล่าให้ชาวบ้านในพื้นที่ฟังว่าเราจัดตั้งสำนักงานขึ้นที่นครนายก เรามาทำอะไร ชุมชนจะได้ประโยชน์บ้างไหม จะมีส่วนร่วมอะไรกับพวกเราบ้างหรือเปล่า ผมเริ่มต้นว่าในอิสลาม อัลลอฮฺทรงกำหนดสิ่งหะรอมหรือสิ่งต้องห้ามบริโภคไว้เพียงสี่อย่าง คือ สัตว์ฮาลาลที่มิได้ถูกเชือดอย่างถูกต้อง เนื้อสุกร เลือด และสัตว์ที่พลีกรรมในศาสนาอื่น นอกเหนือจากนั้นมีอาหารจำนวนมหาศาลที่ฮาลาลสามารถนำมาบริโภคได้ อิสลามกำหนดสิ่งที่ฮาลาลไว้มากมาย แต่ธรรมชาติมนุษย์ เรากังวลกับสิ่งต้องห้าม วุ่นวายมากกับสิ่งหะรอมผมเริ่มงานการใช้ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ณ คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตรวจการปนเปื้อนสิ่งหะรอมในอาหารเพื่อปกป้องผู้บริโภคมุสลิมมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นงานเล็กๆที่พัฒนาขึ้นเนื่องจากอัลกุรอานระบุให้ถามผู้รู้เมื่อไม่รู้ คนถามผมบ่อยว่าอาหารชนิดนั้น ชนิดโน้น ปนเปื้อนบ้างไหม บริโภคได้หรือเปล่า เมื่อทำการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์แล้วพบว่าปลอดภัยบ้าง ปนเปื้อนบ้าง ผมทำงานลักษณะนี้อยู่สิบปี จนกระทั่งวันที่ 13 สิงหาคม 2546 คณะรัฐมนตรีมีมติให้จัดตั้งห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาลขึ้นที่คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาซึ่งผมเป็นคณบดีเวลานั้น ต่อมาใน พ.ศ.2547 จึงยกระดับเป็น ศวฮ. ได้รับรางวัลระดับชาติและระดับโลกมากมาย ได้รับการยกย่องว่าเป็นสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลแห่งแรกที่ถือกำเนิดขึ้นในโลกเมื่ออัลกุรอานกำหนดให้ถามผู้รู้หากไม่รู้ งานสำคัญของ ศวฮ.คือต้องสร้างผู้รู้ด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลขึ้น ผ่านมาจนถึง พ.ศ.2565 ศวฮ.สร้างนักวิทยาศาสตร์ฮาลาลระดับปริญญาเอกขึ้น 7 คน ให้ทำหน้าที่ผู้รู้ เราร่วมกันทำงานตรวจสอบหะรอมที่ปนเปื้อนในอาหาร มีผลงานมากมาย สดๆร้อนๆเมื่อกลาง พ.ศ.2565 คือพบการปนเปื้อนสุกรในลูกชิ้นที่ติดฉลากว่าฮาลาล สำนักงานอิสลามประจำจังหวัดและสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามจึงถอนการรับรองฮาลาล เราพบเนื้อสุกรแช่เลือดวัวจำหน่ายออนไลน์แจ้งว่าเป็นเนื้อวัวขายกันตามร้านหมูกระทะ เนื้อกระทะ เราปกป้องทั้งมุสลิมและผู้ที่มิใช่มุสลิม ทำงานแข็งขันร่วมกับกรมปศุสัตว์ และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพอาหารมาตรฐานฮาลาลของกระทรวงพาณิชย์ที่มีคุณอลงกรณ์ พลบุตร เป็นประธาน ศวฮ.เน้นการทำงานตรวจสอบหะรอมมานาน 19 ปีอย่างที่บอกคืออาหารเกือบทั้งหมด อิสลามกำหนดว่าฮาลาล มีเพียงน้อยนิดที่หะรอม ศวฮ.จึงเห็นว่าถึงเวลาที่เราควรหันกลับไปทำงานด้านฮาลาลกันบ้าง พ.ศ.2565 เราจึงเปิดศูนย์ที่นครนายกเพื่อทำงานพัฒนานวัตกรรมฮาลาล โดยจัดตั้งหน่วยงาน HICOLEC ทางมูลนิธิมุฮัมมะดียะฮฺมีพื้นที่ 4 ไร่ 1 งาน ที่คลอง 15 นครนายก สร้างสำนักงานไว้โดยอนุญาตให้ ศวฮ.เข้าไปใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ งานพัฒนานวัตกรรมฮาลาลที่ HICOLEC จึงเริ่มขึ้น สร้างผลงานนวัตกรรมชิ้นแรกก็คว้ารางวัลในงาน APEC Future Food for Sustainability ตอนปลาย พ.ศ.2565 โดยพัฒนาไข่จากพืช เราจะไม่หยุดแค่รางวัลแต่เดินหน้าพัฒนานวัตกรเพื่อสร้างผลงานนวัตกรรมฮาลาล จะช่วยชุมชนในการพัฒนางานใหม่ๆ ตั้งโรงเรียนสอนคิดโดยร่วมกับโรงเรียนในพื้นที่อำเภอองครักษ์เพื่อพัฒนาเยาวชนให้คิดเป็น พัฒนางานเป็น สร้างผลงานเป็น ยังมีอีกหลายเรื่องที่เราจะทำ ไว้ค่อยๆเล่าก็แล้วกัน #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #hicolec, #ศวฮนครนายก, #มัสยิดดารุ้ลอิสลามคลอง14

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *