นับจาก พ.ศ.2546 เป็นต้นมา คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) สำนักนายกรัฐมนตรีจัดแข่งขันงานบริการประชาชนระหว่างหน่วยราชการ แบ่งรางวัลเป็นหลายกลุ่ม หนึ่งในนั้นคือ “#นวัตกรรมการบริการภาครัฐ” ความที่หน่วยงานภาครัฐนับถึงระดับยิบย่อยมีนับเป็นหมื่นหน่วย จำเป็นต้องให้ต้นสังกัดเป็นผู้ส่งผลงานเข้าประกวด งานของ #ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (#ศวฮ.) ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้เสนอ ซึ่ง ศวฮ.เคยคว้ารางวัลระดับดีเด่นมาแล้ว 1 ครั้งกับผลงาน “HAL-Q นวัตกรรมระบบบริหารจัดการคุณภาพความปลอดภัยผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลครบวงจร” ใน พ.ศ.2556 วันเวลาผ่านไป 7 ปี ครั้งนี้ทางมหาวิทยาลัยขอให้ ศวฮ.ส่งผลงานอีกครั้ง ศวฮ.ส่งเรื่อง H-Numbers เข้าประกวดตั้งชื่อเรื่องไว้ว่า “H-Number นวัตกรรมระบบค้นหาวัตถุเจือปนอาหารฮาลาลแม่นยำเพื่ออุตสาหกรรมแห่งอนาคต” จากเรื่องราวความเป็นมา องค์ประกอบตลอดจนประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ งานชิ้นนี้มีคุณค่าครบถ้วน ซึ่งผลการตัดสิน H-Numbers ได้รับรางวัลนวัตกรรมการบริการภาครัฐ ระดับดีเด่น ผมเดินทางไปรับรางวัลจากรองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม ณ จูบีลีฮอลล์ เมืองทองธานี วันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2563 เป็นที่เรียบร้อยท่ามกลางความภาคภูมิใจของชาว ศวฮ. และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตลอดจนผู้คน องค์กรและหน่วยงานที่รู้จักเราขอเล่าเรื่อง H-Numbers สักนิด H-Numbers หรือ Halal Number เลขทะเบียนวัตถุดิบที่ได้รับการยืนยันสภาพฮาลาลจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี พ.ศ. 2563 นี้เอง ศวฮ.สะสมวัตถุดิบที่ได้รับจากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (สกฮท.) สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด (สกอจ.) 39 แห่ง เป็นวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์จากโรงงานอุตสาหกรรมที่ขอการรับรองฮาลาลกว่า 5 พันแห่ง รวมกับโรงงานที่เข้ารับการวางระบบ HAL-Q ของ ศวฮ. 770 แห่ง ผ่านกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาลก่อนรับการตรวจวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาลได้ผลวิเคราะห์รวม 134,400 การวิเคราะห์ จัดทำเป็นตาราง (Tabulation) เป็นสามกลุ่มเพื่อส่งให้ผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรีทำการตัดสินสภาพฮาลาลงาน H Numbers นี้เริ่มต้นใน พ.ศ.2557 โดยนำผลการวิเคราะห์วัตถุดิบที่รวบรวมไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2547 มาใช้ มีชื่อโครงการว่า IQRAH: Identification of Query Raw Materials for Assuring Halalness หรือการวิเคราะห์วัตถุดิบต้องสงสัยเพื่อสร้างความมั่นใจสภาพฮาลาล ใช้ชื่อว่า “อิกเราะฮฺ” เพื่อความเป็นศิริมงคลของงาน จากนั้นกำหนดอัลกอริธึมที่นำไปสู่การแยกแยะสภาพฮาลาลและหะรอมเพื่อพัฒนางานต่อเนื่องที่นำไปสู่งานนวัตกรรมด้านวัตถุดิบ ประโยชน์ที่ภาคอุตสาหกรรมและประชาชนจะได้จาก H-Numbers มีมหาศาล ที่สำคัญคือ H-Numbers จะทำให้การตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาลซึ่งมีราคาแพงในอนาคตหมดความจำเป็นลง ศักยภาพการแข่งขันของผลิตภัณฑ์ฮาลาลจะสูงขึ้น นำไปสู่การพัฒนา New S-Curve เชิงอุตสาหกรรม ความสำเร็จในงานนี้มาจากหลายฝ่ายไม่ใช่ ศวฮ.เท่านั้น รางวัลจึงเป็นของทุกคน