Brexit บทเรียนการเมืองจากอังกฤษ

ผมไปอังกฤษมาหลายครั้งมีโอกาสเข้าไปแวะเมืองเล็กๆของอังกฤษหลายเมือง ไปครั้งหลังสุดคือปลายเดือนมิถุนายน 2562 ที่ผ่านมาเมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อครั้งได้เข้าไปเมื่อกว่าสิบปีมาแล้ว สัมผัสบรรยากาศเมืองเล็กในอังกฤษรู้สึกเลยว่าเปลี่ยนไป ที่เห็นชัดเจนคือความเป็นท้องถิ่นนิยมเพิ่มสูงขึ้น กลับเมืองไทยแล้วลองเข้าไปตรวจสอบในกูเกิลปรากฏว่าผมไม่ได้อุปาทาน มันเป็นอย่างนั้นจริงๆไม่ว่าจะเป็นอังกฤษหรือสหรัฐอเมริกาหรือแม้กระทั่งเมืองไทยก็เถอะ ลองไปวิเคราะห์กันดู แทบไม่ต่างกันเลย

ย้อนกลับไปใน พ.ศ.2559 อังกฤษมีการลงคะแนนเสียง Brexit โดยให้ประชาชนตัดสินใจว่าจะออกจากการเป็นสมาชิกอียูหรือไม่ หลังจากนั้นในปีเดียวกันสหรัฐอเมริกามีการลงคะแนนเสียงเลือกประธานาธิบดี ผลออกมาคล้ายคลึงกันจนน่าแปลกใจ ในอังกฤษคนเมืองเล็กส่วนใหญ่เลือกออกจากอียู ขณะที่การตัดสินใจของคนเมืองใหญ่หาเอกภาพไม่ได้ สุดท้ายคือฝ่ายที่ต้องการออกเป็นฝ่ายชนะ เหตุการณ์ในสหรัฐอเมริกาคล้ายคลึงกันคือคนเมืองใหญ่หาเอกภาพไม่ได้ ขณะที่คนเมืองเล็กส่วนใหญ่เลือกโดนัลด์ ทรัมพ์ มากกว่าฮิลลารี คลินตัน สุดท้ายแม้คลินตันจะชนะป็อบปูลาโหวตแต่แพ้อิเล็คทอรัลโหวตให้กับทรัมพ์ กลายเป็นว่าเสียงของคนเมืองเล็กคือผู้ตัดสิน

การเลือกตั้ง พ.ศ.2562 ในประเทศไทยให้ผลไม่ต่างกัน เสียงตัดสินมาจากเมืองเล็กมากกว่าเมืองใหญ่ พรรคพลังประชารัฐแม้ชนะในป็อบปูลาโหวตแต่กลับแพ้ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในภาพรวม หากไม่มีพรรคอนาคตใหม่ ไม่มีการยุบพรรคไทยรักษาชาติ การเลือกตั้งคงแสดงผลชัดเจนกว่านี้ คนเมืองเล็กหรือในชนบทคือผู้ตัดสินการเมืองระดับชาติมากกว่าที่จะเป็นคนจากเมืองใหญ่ เรื่องนี้รู้กันดีอยู่แล้วไม่มีอะไรแปลก สิ่งที่น่าแปลกคือไม่ว่าจะเป็นการเมืองในอังกฤษหรือสหรัฐอเมริกาหรือแม้กระทั่งประเทศไทยคือความรู้สึกในความเป็นท้องถิ่นนิยมเพิ่มสูงขึ้นชัดเจนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โลกแกว่งไปทางด้านเอกวัฒนธรรมมากกว่าพหุวัฒนธรรม เอียงไปทางขวามากกว่าทางซ้าย แปลกตรงที่กระแสสวิงขวากลับไปเกิดในชนบทแทนที่จะเป็นในเมืองใหญ่

ในอังกฤษมีการวิพากษ์กันว่านี่คือผลพวงของ Brexit เกิดการกระตุกกระแสท้องถิ่นนิยมหรือความเป็นอังกฤษ กระทั่งลุกลามเข้าไปในสหรัฐอเมริกาส่งผลให้สโลแกน Make America Great Again จุดติดกระทั่งทำให้ทรัมพ์ชนะการเลือกตั้ง หากเป็นจริงตามที่วิเคราะห์กัน ชัยชนะของพรรคอนาคตใหม่กับพรรคเพื่อไทยในชนบทอาจไม่ใช่กระแสสวิงซ้ายอย่างที่เคยเข้าใจกัน หากสิ่งนี้คือกระแสสวิงขวาหรือความเป็นท้องถิ่นนิยมจริง อาจได้เห็นการพลิกผันอีกครั้งในการเลือกตั้งครั้งหน้า ใครจับกระแสนี้ได้ก่อนย่อมได้ประโยชน์ก่อน ปรากฏว่าในอังกฤษมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัย Hull นำเอากระแสนี้ไปใช้แก้ปัญหาพหุวัฒนธรรมโดยเน้นกลับไปที่เอกวัฒนธรรม ซึ่งให้ผลน่าสนใจมาก คนอังกฤษต่างเชื้อชาติพากันรณรงค์ความเป็นอังกฤษ เอาพหุวัฒนธรรมไปผสนผสานกับความเป็นชาตินิยม ไม่เคยคิดว่าเรื่องอย่างนี้จะเกิดขึ้นได้ปรากฏว่าได้เกิดขึ้นแล้ว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *