มัมลุกส์ – ทหารทาสผู้พิชิตมองโกลและนักรบครูเสดในประวัติศาสตร์อิสลาม ตอนที่ 6

โลกอิสลามในทางประวัติศาสตร์นับกันตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 7 เริ่มจากการถือกำเนิดของ #นบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) ในเมืองมักกะฮฺ ค.ศ.570 สิ่งที่สร้างความฉงนฉงายให้นักประวัติศาสตร์ตะวันตกค่อนข้างมากคือโลกอิสลามเกิดขึ้นท่ามกลางการแข่งขันของจักรวรรดิทางการทหารและการเมืองที่ยิ่งใหญ่สองจักรวรรดินั่นคือโรมันยุคไบแซนไทน์และเปอร์เซียยุคซัสซานิด สุดท้ายภายในเวลาเพียงหนึ่งศตวรรษกลับเป็นอาณาจักรอิสลามจากทะเลทรายที่เข้าครอบครองพื้นที่ของจักรวรรดิทั้งสองได้สำเร็จ ขยายเป็นจักรวรรดิของชนชาติอาหรับลากยาวจากคริสตศตวรรษที่ 8 ไปจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 13 เหตุการณ์ทำลายแบกแดดโดยกองทัพมองโกลใน ค.ศ.1258 นับเป็นหมุดหมายการเปลี่ยนผ่านการนำในโลกอิสลามจากมือชนอาหรับไปยังชนเติร์กที่มาจากเอเชียกลาง การเปลี่ยนผ่านนี้เริ่มแสดงเค้ารางมาตั้งแต่การก้าวขึ้นสู่อำนาจของชนชาติเติร์กในนาม #เซลจุค (آل سلجوق Seljuk) ช่วง ค.ศ.1037-1194 แล้ว การนำในโลกอิสลามของชนเติร์กเห็นชัดเจนขึ้นจากการก้าวขึ้นสู่อำนาจของราชวงศ์อุสมานียะฮฺ (عثمانيه Ottoman) ค.ศ.1299-1922 ระหว่างการเปลี่ยนผ่านอำนาจการนำโลกอิสลามที่ว่านี้ เกิดการนำโลกอิสลามช่วงสั้นๆของชนอีกสองกลุ่มชนนั้นคือเคิร์ดและมัมลุกส์ซึ่งเป็นชนเติร์กมองโกลจากคอเคซัสและเอเชียกลางที่ถือวัฒนธรรมอาหรับก่อนและหลังการทำลายแบกแดดที่ปกครองโดยราชวงศ์อับบาสิยะฮฺใน ค.ศ.1258 ช่วงเวลาเกือบสองศตวรรษระหว่าง ค.ศ.1095-1272 คือสงครามยืดเยื้อระหว่างชนชาวคริสต์จากยุโรปกับโลกมุสลิมตะวันออกกลางในพื้นที่ที่ชนยุโรปเรียกว่า #เลแวนท์ (Levant) ขณะที่ชนอาหรับเรียกว่าชามหรือมุชริก (ٱلْمَشْرِق‎, الشام) ซึ่งหมายถึงดินแดนทางตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนครอบคลุมตอนใต้ของตุรกี เลบานอน ซีเรีย อิรัก ปาเลสไตน์ไปจนถึงกาซ่าและไซนาย นักรบมุสลิมที่แสดงบทบาทสำคัญในการปกป้องโลกอิสลามจากนักรบครูเสดเวลานั้นคือชนชาวเคิร์ดจากราชวงศ์อัยยูบิด ค.ศ.1171-1250 และทหารทาสเชื้อสายเติร์กมองโลกจาก #ราชวงศ์มัมลุกส์ ค.ศ.1250-1517 แสดงภาพให้เห็นถึงความเป็นพหุวัฒนธรรมในโลกอิสลามได้ชัดเจนขึ้น มัมลุกส์รบในสงครามครูเสดมาตั้งแต่เริ่มสงครามครูเสดใน ค.ศ.1095 อยากเห็นความกล้าแข็งของมัมลุกส์ควรรู้จักนักรบครูเสดและอัศวินเทมปลาร์ที่เข้ามารบในแผ่นดินชามเสียก่อน สงครามครูเสดเริ่มจากการขึ้นสู่อำนาจของชนเติร์กกลุ่มเซลจุกในอะนาโตเลียซึ่งรบกวนการแสวงบุญของชาวคริสต์จากยุโรปยังดินแดนชาม การกระทบกระทั่งกันของสองฝ่ายนำไปสู่การระดมนักรบครูเสดจากยุโรปเข้าสู่แผ่นดินชาม ความยากลำบากในการดำรงชีวิตของผู้คนในยุโรปเวลานั้นเมื่อได้รับการเชิญชวนให้ไปรบในสงครามศักดิ์สิทธิ์โดยมีผลตอบแทนคือทรัพย์สินและดินแดนในชามที่เรียกกันในหมู่นักรบครูเสดชาวแฟรงค์หรือฝรั่งเศสว่า “อูเทรอะแมร์” (Outre Mer) หรือแผ่นดินนอกทะเล เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า Outremer ได้กระตุ้นให้เกิดนักรบครูเสดผู้เหี้ยมหาญจากยุโรปนับจำนวนแสน นักรบมุสลิมที่จะต่อกรกับนักรบครูเสดเหล่านั้นได้จำเป็นต้องเหี้ยมหาญเฉกเช่นเดียวกัน กลุ่มที่แสดงบทบาทสำคัญคือบรรดานักรบมัมลุกส์นี่เอง #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *