ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) ร่วมงานกับสภาพัฒน์ฯหรือ สศช.ในแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ประเทศไทย หรือ Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle (IMT-GT) มาตั้งแต่ พ.ศ.2546 ครั้งนั้นโครงสร้าง IMT-GT ยังแบ่งเป็นคณะทำงานเทคนิค 6 กลุ่ม (Implementing Technical Group หรือ ITG) โดยงานฮาลาลเป็นกลุ่มย่อยภายใต้กลุ่มงานเกษตรภายใต้ ITG ด้านการพัฒนาพื้นที่นอกเขตเมืองและการค้าภายในพื้นที่ [ITG on Development of Hinterland and Intra trade] งานเริ่มต้นในเดือนมีนาคม พ.ศ.2546 โดยผมได้รับมอบหมายจาก ดร.เริงศักดิ์ สูทกวาทิน แห่งสภาพัฒน์ฯ ให้ไปประชุมคณะทำงานฮาลาล ที่เมือง Alor Setar รัฐเกดาห์ มาเลเซีย ในวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2546 หลังจากนั้นวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2547 ศวฮ.จัดประชุมคณะทำงานฮาลาล IMT-GT ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ.2548 ศวฮ.ลงนามความร่วมมือจัดตั้งเครือข่ายห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์กับมหาวิทยาลัย UPM มาเลเซียและมหาวิทยาลัย IPB อินโดนีเซียนำเสนอต่อที่ประชุมระดับข้าราชการชั้นสูง IMT-GT วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2548 ที่นครศรีธรรมราช ก่อนนำเข้าสู่ระดับรัฐมนตรีวันที่ 14-15 พฤศจิกายน พ.ศ.2548 ที่เมืองเปกันบารู จังหวัดเรียว สุมาตรา อินโดนีเซีย มีคุณสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศไทย ผลคือการกำเนิดเครือข่ายวิทยาศาสตร์ฮาลาลนานาชาติขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกงาน IMT-GT เป็นผลให้ช่วงปลาย พ.ศ.2548 ศวฮ.มีโอกาสเสนอแผนงานเข้าสู่คณะกรรมการพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน (กพบ.) ซึ่งมี สศช.เป็นเลขานุการ นั่นคือแผนงานการประยุกต์วิทยาศาสตร์ฮาลาลเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมและการส่งออกอาหารฮาลาลของประเทศพร้อมทั้งสร้างเครือข่ายห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ IMT-GT เพื่อขอรับงบประมาณ พ.ศ.2550-2552 ต่อ กพบ. การประชุมครั้งนั้นมีคุณสุรเกียรติ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน คุณสุรนันทน์ เวชชาชีวะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธาน คุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รองเลขาธิการ คสช.เป็นเลขานุการ ที่ประชุมเห็นชอบแนวคิดด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล งบประมาณผ่านการอนุมัติเป็นผลให้ ศวฮ.ได้รับงบประมาณต่อเนื่องจาก พ.ศ.2549 อีกสามปี การประชุมวันที่ 11-14 กันยายน พ.ศ.2549 ที่เมือง Petaling Jaya มาเลเซีย เป็นการปรับปรุงโครงสร้าง IMT-GT หัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทยในการประชุมผู้บริหารระดับสูงคือ ดร.ปรเมธี วิมลศิริ แห่ง สศช.เห็นด้วยกับข้อแนะนำของผมเรื่องการจัดตั้งคณะทำงานด้านผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล (Working Group on Halal Products and Services หรือ HAPAS) หลังจากนั้นหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศไทยคือคุณสุรนันทน์ เวชชาชีวะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เห็นชอบ จึงนำผลไปหาข้อสรุปในการประชุมระดับผู้นำที่เมืองเซบู ฟิลิปปินส์ วันที่ 24-26 พฤศจิกายน พ.ศ.2549 ในที่สุดคณะทำงาน HAPAS ที่มีประเทศไทยเป็นประเทศนำก็เกิดขึ้น ประเทศไทยแสดงบทบาทนำด้านฮาลาลโดยมีสองประเทศมุสลิมเห็นชอบ กลายเป็นอีกหนึ่งประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประเทศไทย #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #imtgt, #hapas