มีหลายคนเข้าใจผิดว่าวันบาสติลเป็นการรำลึกถึงการโค่นล้มระบอบกษัตริย์ในฝรั่งเศสซึ่งไม่ถูกต้อง ฝรั่งเศสหลังการทำลายบาสติล วุ่นวายอยู่ช่วงหนึ่งหลังจากนั้นกลับคงระบอบกษัตริย์ไว้ ยังมีจักรพรรดินโปเลียนโบนาปาร์ต ยังมีพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 และอีกหลายองค์ การล้มเลิกไม่ใช่โค่นล้มเกิดขึ้นภายหลัง
สำหรับประเทศไทย เราต้องยอมรับว่าประเทศฝรั่งเศสมีอิทธิพลต่อประวัติศาสตร์ของประเทศไทยอยู่ไม่น้อย เราสูญเสียดินแดนให้ฝรั่งเศสหลายครั้ง สูญเสียเงินทองให้ฝรั่งเศสจนหมดคลัง เป็นความขมขื่นในประวัติศาสตร์ที่ยากจะลืม แต่เป็นเพราะฝรั่งเศสจึงทำให้เราได้รับรู้ความมีวิสัยทัศน์และการเสียสละของพระมหากษัตริย์ไทยในการปกป้องเอกราชของประเทศไว้ ทั้งการใช้เงินพระคลังข้างที่ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 3 ทรงสะสมไว้เพื่อซื้อเอกราชของชาติจากฝรั่งเศส ทั้งพระราชกุศโลบายของในหลวงรัชการที่ 6 ในการเข้าร่วมกับฝรั่งเศสและอังกฤษในมหาสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งประเทศไทยหรือราชอาณาจักรสยามในเวลานั้นส่งทหารเข้าร่วมรบในประเทศฝรั่งเศส
ทุกปีในวันที่ 14 กรกฎาคม ฝรั่งเศสจัดการสวนสนามที่ชองเอลิเซ่ กรุงปารีสเพื่อรำลึกถึงวันบาสติล ไม่มีการเชิญทหารต่างชาติเข้าร่วมยกเว้นเมื่อครั้งพาเหรดครั้งยิ่งใหญ่ใน ค.ศ.1919 ซึ่งมีกองทหารต่างชาติเข้าร่วมเพื่อรำลึกถึงชัยชนะในมหาสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ปกป้องอธิปไตยของฝรั่งเศสไว้จากเยอรมนี ในวันนั้นวันที่ 14 กรกฎาคม 1919 ทหารไทยเข้าร่วมสวนสนามเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารพันธมิตรในวันบาสติลเป็นการแสดงความเท่าเทียมของอาณาจักรสยามกับจักรวรรดิฝรั่งเศสและอังกฤษ ผลที่ตามมาคือการได้สิทธิต่างๆที่สยามสูญเสียให้กับฝรั่งเศสและอังกฤษคืนกลับมา
ความเป็นประเทศเอกราชหนึ่งเดียวในหมู่ประชาชาติอาเซียนของไทยจึงไม่ได้มาเพราะโชคช่วย หรือเป็นประเทศกันชน (Buffer state) เช่นที่บางคนเข้าใจ ปัจจัยสำคัญคือการเสียสละพระราชทรัพย์ การทรงมีพระวิสัยทัศน์ของพระมหากษัติริย์แห่งราชวงศ์จักรี ตลอดจนเลือดเนื้อและน้ำตาของคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ร่วมกันเสียสละ
การเมืองคือการเมือง ขมขื่นขนาดไหน ปวดร้าวเพียงใดก็ต้องกล้ำกลืนเพราะยังมีสิ่งสำคัญยิ่งกว่าให้ต้องทำ โลกวันนี้ไม่ต่างจากยุคศตวรรษที่ 18-19 สักเท่าไหร่ ชาติตะวันตกยังคงความเป็นรัฐจักรวรรดิไม่เปลี่ยนแปลง นักการเมืองอเมริกันคือ Carl Rove เคยพูดเตือนสติคนทั้งโลกไว้ว่าสหรัฐอเมริกาคือจักรวรรดิ หากทำอะไรผิด ไม่จำเป็นต้องแก้ไข ประวัติศาสตร์ความเป็นจักรวรรดิจะทำหน้าที่ด้วยตัวของมันเอง
เรื่องราวของฝรั่งเศสกับอังกฤษที่มีต่อประเทศไทยก็ไม่ต่างกัน ในยุคจักรวรรดินิยม ฝรั่งเศสกับอังกฤษก่อกรรมทำเข็ญกับประเทศไทยไว้มากโดยไม่เคยเอ่ยปากขอโทษ เราอย่าไปคาดหวัง วันนี้ในฝรั่งเศสเขาเฉลิมฉลองกันเอิกเกริก ไม่จำเป็นที่เราต้องร่วมฉลอง ขอเพียงช่วยกันรักษาแผ่นดินของเราไว้ ร่วมกันปกป้องเช่นที่บรรพกษัตริย์และบรรพบุรุษของเราเคยร่วมกันรักษา มุ่งมั้นทำให้ได้อย่างนั้นก็เพียงพอแล้ว