โรคโภชนาการจากบรรพบุรุษ

โรคไม่ติดต่อไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคอย่างเช่นโรคโภชนาการขาดและเกินนำไปสู่สารพัดโรคกลายเป็นปัญหายิ่งกว่าโรคติดต่อเสียด้วยซ้ำ โรคไม่ติดต่อเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากพฤติกรรมแต่บางโรคเกิดจากพันธุกรรม ซึ่งมีอยู่สองสามโรค เป็นต้นว่าโรคความดันโลหิตสูง นายแพทย์อลัน เวเดอร์ (Alan Weder) แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกพบว่ายีน (gene) ที่ชื่อ CYP3A5 ทำหน้าที่ควบคุมปริมาณเกลือในเลือดไว้ ยุคโบราณอาหารไม่ได้มีเกลือมาก การดึงเกลือไว้ในเลือดจึงเป็นเรื่องสำคัญ บรรพบุรุษมนุษย์บางกลุ่มอยู่ในพื้นที่ขาดเกลือ ยีนจึงพัฒนาให้ทำงานดีขึ้น มาถึงยุคนี้อาหารมีเกลือเต็มไปหมด ยีนที่พัฒนาดีขึ้นจึงกลายเป็นปัญหาเพราะยิ่งดึงเกลือไว้ในเลือดได้มากความดันโลหิตสูงก็ยิ่งเกิดได้ง่าย

อีกโรคหนึ่งคือโรคทนน้ำตาลแลคโตสไม่ได้ (Lactose intolerance) ดื่มนมเมื่อไหร่ ท้องไส้โครกครากเมื่อนั้น นายแพทย์พอล เชอร์แมน (Paul Sherman) แห่งมหาวิทยาลัยคอร์เนลพบว่าเมื่อ 5-6 พันปีก่อนคริสตกาล คนยุโรปแม้เติบโตเป็นผู้ใหญ่กลับไม่มีปัญหาเรื่องดื่มนมเพราะยังดื่มนมร่างกายจึงสร้างเอนไซม์แลคเตสได้ แต่คนอัฟริกาและคนเอเชีย เมื่อเติบโตขึ้นไม่ได้ดื่มนม ร่างกายจึงหยุดสร้างเอนไซม์แลคเตส เกิดโรคทนน้ำตาลแลคโตสไม่ได้ กลายเป็นโรคโภชนาการที่แพ้นมหรืออาหารที่มีการเข้านม

อีกโรคหนึ่งคือโรคอ้วน (Obesity) ดร.เลสลี แบเออร์ (Leslie Baier) แห่งสถาบันเบาหวาน โรคทางเดินอาหารและโรคไต สหรัฐอเมริกา พบว่ามนุษย์บางกลุ่มมียีนที่เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากภาวะขาดพลังงานในอดีตทำให้ร่างกายต้องเปลี่ยนน้ำตาลไปเป็นไขมันสะสมไว้ มาถึงยุคนี้พลังงานไม่ขาดทั้งยังได้รับมากขึ้น แต่ยีนกลับสะสมพลังงาน น้ำตาลจึงเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมมากขึ้น สุดท้ายกลายเป็นโรคอ้วน เพราะยีนตัวนี้ จึงทำให้ครอบครัวบางครอบครัวอ้วนกันง่าย จำเป็นต้องดูแลตนเองมากกว่าครอบครัวอื่น

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมช่วยป้องกันตนเองจากโรคที่เกิดจากพันธุกรรมได้ เพียงแต่คนจากครอบครัวที่มีพันธุกรรมที่ไม่ต้องการส่งผลให้เกิดโรคทางพันธุกรรมจึงจำเป็นต้องปรับพฤติกรรมมากกว่าคนอื่น เป็นต้นว่าเลี่ยงการดื่มนมกรณีพันธุกรรมด้านการขาดแลคเตส หรือลดอาหารที่มีเกลือสูง หรือแป้งและไขมันสูง กรณีโรคอ้วนและโรคความดันโลหิตสูง เรื่องโรคทางพันธุกรรมที่ว่านี้ป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่จำเป็นต้องไปทำยีนบำบัด (gene therapy) ซึ่งทำได้ยาก เสียเงินเสียทองเกินจำเป็นและอาจไม่ได้ผลก็ได้ #drwinaidahlan#ดรวินัยดะห์ลัน#โรคทางพันธุกรรม#โรคโภชนาการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *