เวลากับการสร้างภูมิปัญญาในเดือนรอมฎอน

ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่สะสมมานานยืนยันว่าการอดอาหารเป็นระยะ (Intermittent fasting หรือ IF) ช่วยส่งเสริมสุขภาพให้ดีขึ้น ซึ่งต่างจากการอดอาหารแบบต่อเนื่อง (Starvation) ที่มักก่อปัญหา การถือศีลอดแบบอิสลามจัดเป็น IF แบบหนึ่ง ข้อแตกต่างระหว่าง IF ที่นิยมปฏิบัติกันทั่วไปกับการถือศีลอดแบบอิสลามมีหลายจุด ที่เห็นค่อนข้างชัดคือมื้ออาหารก่อนเริ่มอดอาหาร เรียกว่าสุฮูร (سحور Suhur) ในอิสลาม อาหารมื้อนี้บริโภคกันก่อนแสงทองที่ในภาษาอาหรับเรียกว่าฟะญัร (الفجر Fajr) จับท้องฟ้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ตรงกับเวลาตีห้าใน พ.ศ.2566 ขณะที่ดวงอาทิตย์ขึ้นเวลา 6 โมง 10 นาที ยามเช้า มีเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงในการละหมาดเช้าท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แนะนำให้รับประทานอาหารสุฮูรทุกเช้า เนื่องจากการถือศีลอดมิได้มีเจตนาเพื่อทรมานร่างกายทว่าส่วนหนึ่งเพื่อการมีสุขภาพที่ดี อาหารสะฮูรจึงเป็นเสมือนลาภที่พระผู้เป็นเจ้ามอบให้ในเดือนรอมฎอน โดยท่านนบีแนะนำให้บริโภคอาหารสุฮูรใกล้เวลาละหมาดเช้า หรือก่อนเข้าเวลาซุบฮิ หรือก่อนเวลาที่แสงทองจับท้องฟ้า ช่วงเวลาสั้นๆตั้งแต่หมดเวลาอาหารสะฮูรกระทั่งถึงแสงทองจับท้องฟ้าหรือฟะญัรจึงกลายเป็นคำถามให้ได้ยินกันบ่อยในเดือนรอมฎอนว่าคือช่วงไหน ยาวนานเท่าไหร่ ในภาษาอาหรับมีอยู่คำหนึ่งคืออิมซาก (إمساك Imsak) ซึ่งมักได้ยินกันมากในเดือนรอมฎอน ผมเองมิใช่ผู้เชี่ยวชาญภาษาอาหรับ สับสนกับคำว่าอิมซากอยู่บ่อยเนื่องจากไม่เคยได้ยินคำนี้ในเดือนอื่น สอบถามนักวิชาการอิสลามที่เป็นคนอาหรับ คำตอบที่ได้รับบางครั้งยิ่งชวนให้สับสน โดยบางคนว่าอิมซากกับฟาญัรมีความหมายเหมือนกัน นั่นคือช่วงเวลาที่แสงทองจับท้องฟ้า เป็นเวลาที่เริ่มการถือศีลอด นักวิชาการบางท่านกลับบอกว่าเป็นช่วงเวลาสั้นๆก่อนฟาญัร โดยอธิบายว่าเป็นช่วงเวลาที่หยุดการรับประทานสุฮูรจนกระทั่งถึงเวลาฟาญัร ช่วงเวลานี้มีบันทึกเป็นหะดิษว่ายาวเท่ากับการอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน 50 วรรค หรือนานประมาณสี่นาที สำคัญคือให้หยุดการกินการดื่มอย่างสิ้นเชิงก่อนเวลาแสงทองจับท้องฟ้าในอิสลาม “เวลา” (وقت time) สำคัญเสมอ นำทางไปสู่การพัฒนาศาสตร์ต่างๆมากมาย ดังเช่น คณิตศาสตร์ พีชคณิต เรขาคณิต สร้างสมความรู้กระทั่งก่อเกิดความก้าวหน้าทางวิชาการ พัฒนาเป็นศาสตร์หลายสาขาในโลกอาหรับ ก่อนแพร่ไปยังยุโรปในยุคมืด (dark age) นำไปสู่การพัฒนาศาสตร์แขนงต่างๆ นำยุโรปหลุดพ้นไปสู่ยุคเรเนสซองค์ Renaissance) และยุคเรืองรองทางปัญญา (Enlightenment) ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงแนะนำให้ใช้โอกาสในเดือนรอมฎอนถกสาระกันให้ตกผลึกเรื่องฟาญัรและอิมซาก ทำเช่นที่โรงเรียนอิสลามระดับต้นหรือมักตับปฏิบัติกันในยุคกลาง เท่านี้ก็สร้างภูมิปัญญาได้มากแล้ว #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #อิมซาก, #การถือศีลอดเดือนรอมฎอน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *