เรียนรู้วัฒนธรรมการใช้ตะเกียบ

วันนี้วันหยุด ขอเขียนเรื่องง่ายๆสักหน่อย เอาเรื่อง “ตะเกียบ” (chopstick) ก็แล้วกัน ตะเกียบเป็นคำที่เพี้ยนมาจากภาษาจีนว่าเต็กเกี๊ยบ หมายถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการคีบ จะคีบอาหารหรือสิ่งอื่นก็ได้ จัดเป็นเครื่องใช้ที่เก่าแก่ที่สุดและเรียบง่ายที่สุด ประชากรหนึ่งในห้าของโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รู้จักใช้ตะเกียบคีบอาหารมานาน หากนับที่บันทึกเก่าแก่ที่สุดพบว่ามีการกล่าวถึงตะเกียบเพื่อใช้คีบอาหารตอนยุคราชวงศ์ฮั่นของจีนเมื่อ 220 ปีก่อนคริสตกาล เอาเข้าจริงตะเกียบเริ่มมานานกว่านั้น เชื่อกันว่าเริ่มในประเทศจีนเมื่อ 5-7 พันปีมาแล้วตะเกียบเริ่มด้วยการเป็นอุปกรณ์เตรียมอาหาร เมื่อมีการใช้ไฟมากขึ้น จึงจำต้องใช้อุปกรณ์ทำอาหารเพื่อหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บจากความร้อนและอื่นๆ การใช้ตะเกียบจึงเริ่มขึ้น ใช้หยิบจับอาหารได้สะดวกกว่าไม่ว่าจะเป็นบะหมี่ ขนมจีบ ข้าวเหนียว หรืออื่นๆ มักเป็นตะเกียบยาวเพื่อช่วยรักษาระยะห่างจากไฟ ช่วยให้ไม่ต้องสัมผัสอาหาร ทั้งยังใช้ในการเตรียมและปรุงได้อีก ไม่ว่าจะตีไข่ ผัดบะหมี่ในน้ำเดือด หมุนอาหารขณะทอด สะดวกในการใช้ตกแต่งอาหาร เลือกหยิบและย้ายอาหาร ภายหลังจากนั้นจึงค่อยพัฒนาเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการกินอาหารการกินเป็นเรื่องของวัฒนธรรม มีมารยาทและความเหมาะสมประกอบอยู่ด้วย จึงควรเรียนรู้มารยาทการใช้ตะเกียบสักหน่อย สังคมญี่ปุ่น เกาหลี จีน พัฒนาวัฒนธรรมการใช้ตะเกียบมานาน กระทั่งสร้างวัฒนธรรมที่ควรให้ความสนใจเพื่อเข้าสังคมต่างชาติหรือแม้กระทั่งกับคนในชาติเดียวกันได้ ประการแรกไม่เอาตะเกียบสองข้างถูกัน การถูตะเกียบข้างหนึ่งกับอีกข้างหนึ่งต่อหน้าผู้อื่นอาจแสดงว่าอีกฝ่ายหนึ่งราคาถูก ประการที่สองอย่าเสียบตะเกียบลงบนอาหารในลักษณะตั้งตรงต่อหน้าผู้อื่น ถือว่าขาดความเคารพเพราะสิ่งนี้เสมือนการปักธูปในประเพณีงานศพ ประการที่สาม อย่าส่งอาหารจากตะเกียบของเราไปยังตะเกียบของผู้อื่น ถือเป็นเรื่องหยาบคาย ควรคีบอาหารและวางลงบนจานหรือชามเพื่อให้ผู้อื่นหยิบ ประการที่สี่อย่าใช้ตะเกียบข้างเดียวในการคนหรือแทงอาหาร การใช้ตะเกียบควรใช้สองอันตลอดเวลา ประการที่ห้าอย่าวางตะเกียบไขว้กันบนชามหรือบนโต๊ะอาหาร หากจำเป็นต้องวางตะเกียบลง ให้วางตะเกียบไว้คู่กันข้างๆ จานหรือชามให้เรียบร้อย ประการที่หกอย่าชี้ผู้อื่นด้วยตะเกียบซึ่งถือเป็นการเสียมารยาท เสมือนการชี้นิ้วไปที่ผู้อื่น ประการที่เจ็ดอย่าหยิบอาหารจากจานกลางด้วยตะเกียบที่เราใช้หยิบอาหารเข้าปาก ควรใช้ตะเกียบกลางที่เตรียมไว้หรือใช้ช้อน หากไม่มีและจำเป็นต้องคีบอาหารจากจานกลาง ให้ใช้ปลายตะเกียบด้านที่สะอาดหรือด้านอ้วนซึ่งไม่ใช่ด้านที่ส่งอาหารเข้าปาก ประการที่แปดอย่าโบกตะเกียบเหนือจานอื่น ถือว่าไม่สุภาพ ให้ใช้ตะเกียบกลาง #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #วัฒนธรรมการใช้ตะเกียบ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *