เถาถั่วต้มถั่ว

ใครเคยอ่านวรรณกรรมจีนแปลไทยเรื่อง “สามก๊ก” คงเคยผ่านตา “กลอนเจ็ดก้าว” หรือ “ชีปู้ซือ” กันบ้าง กลอนนี้ตามตำนานสามก๊ก โจผี ผู้พี่บังคับให้โจสิดผู้น้องประพันธ์ขณะจับตัวไปประหาร โจสิดซึ่งเชี่ยวชาญด้านโคลงกลอนอยู่แล้วจึงบรรจงแต่งชีปู้ซือว่าด้วยการใช้เถาถั่วเป็นเชื้อไฟต้มถั่ว เนื้อหารำพันว่าทั้งถั่วและเถาถั่วเกิดจากเหง้าเดียวกันแท้ๆใยต้องมาฆ่ากัน ชีปู้ซือบทนี้ประทับใจโจผีจึงยอมละเว้นชีวิต เป็นผลให้โจสิดรอดตัวไปได้ ไหนๆก็เริ่มด้วยเรื่องการต้มถั่วกันแล้ว จึงขอต่อกันให้จบโดยไม่เกี่ยวกับกลอน เป็นเรื่องของการต้มถั่วจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต้มถั่วเมล็ดแห้ง อย่างถั่วเหลือง ถั่วแดง ถั่วเขียว ถั่วดำ ถั่วขาว ซึ่งให้ประโยชน์ทางโภชนาการสารพัด ทั้งคาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน แถมยังให้ใยอาหาร วิตามิน เกลือแร่ และสารไฟโตนิวเทรียนท์อีกต่างหาก ถั่วเมล็ดแห้งแข็งอย่างนั้น ต้มให้นุ่มทำได้ค่อนข้างยาก จำเป็นต้องแช่น้ำเพื่อให้ถั่วอมน้ำกระทั่งทำให้เปลือกนุ่มลง ใช้เวลาปรุงน้อยลง แต่ก่อนจะแช่น้ำต้องนำถั่วมาล้างน้ำเย็นเสียก่อนเพื่อขจัดสิ่งสกปรกที่ติดมากับถั่วใช้น้ำเย็นทั้งล้างทั้งแช่กระทั่งสะอาด จึงเทน้ำออกแล้วเติมน้ำใหม่แช่ทิ้งไว้ประมาณ 6-8 ชั่วโมงหรือแช่น้ำข้ามคืน ให้ระดับน้ำอยู่เหนือถั่วสักสองกระเบียดหรือสองนิ้ว จากนั้นจึงนำถั่วมาต้มทำอาหารหรือขนม จะได้ไม่เสียเวลาเสียพลังงานให้มากนักเวลาปรุง หากไม่มีเวลาแช่ถั่วถึง 6 ชั่วโมง เปลี่ยนวิธีใหม่โดยนำถั่วใส่หม้อแล้วเติมน้ำให้พอท่วมอย่างวิธีแรก จึงนำไปต้ม เมื่อน้ำเดือดจึงดับไฟ ปิดฝาหม้อ แช่ทิ้งไว้สักชั่วโมง จากนั้นจึงต้มใหม่อีกครั้ง วิธีหลังนี้จะใช้เวลาในการต้มถั่วนานกว่าวิธีแช่น้ำทิ้งไว้ทั้งคืน เปลืองไฟมากกว่าหน่อย ทั้งถั่วยังอร่อยสู้วิธีแรกไม่ได้ แนะนำให้ใช้วิธีแรกจะดีกว่าการต้มถั่วจะต้มกับน้ำตาลทรายหรือน้ำตาลปีบหรือใส่กะทิแล้วเติมสาคูลงไปได้ทั้งนั้น จะต้มกับน้ำขิงก็ยังได้ หากนำถั่วแช่น้ำแล้วแต่ยังไม่ต้ม สามารถเก็บถั่วไว้ได้สองสามวัน แต่ต้องเทน้ำทิ้งให้หมดแล้วจึงเก็บถั่วใส่ตู้เย็นไว้แบบแห้งๆ ถั่วจะยังไม่เสีย นี่เป็นเรื่องของการต้มถั่วที่ไม่ต้องใช้เถาถั่ว ใช้ไฟใช้แก๊สธรรมดานี่แหละ ขณะที่ต้มไม่จำเป็นต้องแต่งกลอนเลยด้วยซ้ำ #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #เถาถั่วต้มถั่ว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *