อาหรับ-เบอร์เบอร์ มุสลิมผู้สร้างอารยธรรมอิสลามในสเปน ตอนที่ 87

ตอนนี้ขอเป็นตอนสุดท้ายของบทความเชิงสารคดีประวัติศาสตร์ที่ประสงค์ให้พวกเราได้รู้จักอาณาจักรอัล-อันดาลุสหรืออันดาลุสที่ชนมุสลิมสองกลุ่มคือ “อาหรับ” (Arabs) จากตะวันออกกลางและ “อะมาซิกฮฺ”(Amazigh) จากอัฟริกาตะวันตกร่วมกันสร้างไว้ในไอบีเรีย พัฒนากระทั่งรุ่งเรืองและอยู่รอดยาวนานเกือบแปดศตวรรษ สุดท้ายจึงล่มสลายลง อาณาจักรเกิดขึ้นอย่างไร เหตุใดจึงล่มสลาย ผลพวงหลังจากนั้นเป็นอย่างไร บทความได้อธิบายไว้ ส่วนในตอนสุดท้ายขอกล่าวถึงชนอะมาซิกฮฺเพิ่มเติมสักหน่อย เนื่องจากมีส่วนอย่างสำคัญต่อการล่มสลายของอาณาจักรอัล-อันดาลุส ก่อนอื่นขอนำเสนอวิธีการแบ่งยุคสมัยในประวัติศาสตร์ให้เข้าใจกันก่อน จะได้รู้ว่าอาณาจักรอันดาลุสอยู่ในส่วนไหน ช่วงใด และบริเวณไหนของหน้าประวัติศาสตร์โลกนักประวัติศาสตร์แบ่งยุคสมัยของโลกไว้หลายแบบ ที่นิยมคือแบ่งเป็น 6 ยุค ยุคที่ 1 ยุคสร้างหลักฐาน (Foundation period) นับตั้งแต่อดีตกาลจนถึง 600 ปีก่อนคริสตกาล (600 BCE) ยุคนี้แบ่งเป็นยุคย่อยได้อีกคือ ก่อนยุคหิน, ยุคหินเก่า, กลาง, ใหม่, ยุคสำริด, เหล็ก กระทั่งถึงการเพาะปลูก ยุคที่ 2 ยุคคลาสสิก (Classical period) เริ่มจาก 600 BCE ถึง ค.ศ. 600 เริ่มศาสนาพุทธถึงก่อนเริ่มอิสลาม ยุคที่ 3 ยุคหลังคลาสสิก (Post-classical period) ค.ศ.600-1450 เริ่มอิสลามกระทั่งถึงการล่มสลายของโรมัน-ไบแซนไทน์ ยุคที่ 4 ยุคเริ่มยุคใหม่ (Early modern) ค.ศ.1450-1750 จากการล่มสลายของไบแซนไทน์ถึงยุคล่าอาณานิคม ยุคที่ 5 ยุคใหม่ (Modern period) ค.ศ.1750-1900 ช่วงล่าอาณานิคมกระทั่งเข้ายุคอุตสาหกรรม ยุคที่ 6 ยุคร่วมสมัย (Contemporary period) ค.ศ.1900-ปัจจุบัน ยุคอุตสาหกรรมกระทั่งถึงยุคเทคโนโลยีขั้นสูงทุกวันนี้ในยุโรป ยุคที่ 2 ถึงยุคที่ 4 ยังมียุคย่อยแทรกอยู่ ได้แก่ ยุคกรีก-โรมัน (Greco-Roman era 332 BCE- ค.ศ.395), ยุคกลาง (Medieval era ค.ศ.395-1300), ยุคเรเนสซองค์หรือยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance era ค.ศ.1301-1700), ยุคเรืองรองทางปัญญา (Enlightenment era ค.ศ.1701-1800) โดยอาณาจักรมุสลิมไอบีเรียเกิดในยุคที่ 3 คร่อมยุคที่ 4 ช่วงยุคกลางถึงเรเนสซองค์ ตั้งแต่ ค.ศ.711-1492 และหลังจากนั้นจนถึง ค.ศ.1614 โดยเป็นเรื่องราวของมุสลิมสองกลุ่มคืออาหรับและอะมาซิกฮฺ ชาวสเปนและปอร์ตุเกสเรียกมุสลิมทั้งสองกลุ่มที่เข้าไปในไอบีเรียโดยเฉพาะอย่างยิ่งชนอะมาซิกฮฺว่า “มัวร์” (Moors) ขณะที่ก่อนหน้ายุคของอิสลาม ชนอะมาซิกฮฺเคยถูกชนโรมันปกครองโดยชนโรมันเรียกชนกลุ่มนี้ว่า “เบอร์เบอร์” (Berbers) คำว่ามัวร์และเบอร์เบอร์ล้วนเป็นคำเรียกเชิงดูแคลน โดยมัวร์หมายถึงคนดำหรือคนบาป เบอร์เบอร์หมายถึงคนป่าเถื่อนMahdi Braine นักศึกษาโมรอคโคสาขามานุษยวิทยาและการศึกษาตะวันออกกลาง มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก เขียนไว้ในวิทยานิพนธ์ ระบุว่ามัวร์มีรากศัพท์จากภาษากรีกหมายถึงคนผิวดำ ภาพจำของมัวร์สำหรับชาวไอบีเรียจึงเป็นมุสลิมผิวดำ ภาพเขียนเก่าพบว่าเมื่อชนมัวร์เข้าพิธีเปลี่ยนศาสนา ผิวสีดำกลับเปลี่ยนเป็นสีขาวอันความบาปหายไป ชาวโมรอคโคส่วนใหญ่จึงไม่ยอมรับคำว่ามัวร์ ด้วยเห็นว่าเป็นเชิงอคติ ไม่ให้เกียรติ #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #มุสลิมสเปน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *