อะไรที่ทำให้อาหารขยะเป็นอาหารขยะ

เวลานี้ฝ่ายนโยบายโภชนาการของรัฐในสหรัฐอเมริกา กำลังวิเคราะห์ว่ามีสารอาหารกลุ่มไหนบ้างที่ทำให้อาหารขยะถูกจัดว่าเป็นอาหารขยะ เพื่อหาทางลดปัญหาของอาหารขยะที่มีต่อสุขภาพของประชาชน รู้ๆกันอยู่ว่าเวลานี้ปัญหาใหญ่ทางด้านสุขภาพของประชาชนคือความชุกชุมของโรคทั้งหลาย ไม่ว่าโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต โรคมะเร็ง และอีกสารพัด โดยเป็นโรคที่เกิดจากการบริโภคอาหารที่ไม่ได้คุณภาพ เป็นอาหารที่บริโภคบ่อยแล้วก่อโรค หรือความเสื่อมของสุขภาพ ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชนสูงขึ้น แย่กว่านั้นคือทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ลดลง ประสิทธิภาพในการทำงานต่ำลง เมื่อประชาชนป่วยบ่อย ผลคือทำงานได้น้อยลง รัฐต้องเสียรายได้จากภาษีเพื่อใช้ในการรักษาพยาบาล และการดูแลสุขภาพของประชากรที่ป่วยเหล่านั้น นอกจากนี้รัฐยังมีรายได้จากภาษีของประชากรเหล่านั้นน้อยลงไปอีก เรียกว่ารัฐสูญเสียรายได้ชนิดซับซ้อน จึงต้องหาทางเก็บภาษีอาหารขยะเหล่านั้นให้มากขึ้น เพื่อทำให้อาหารกลุ่มนี้มีราคาแพงขึ้น ผู้คนจะได้บริโภคน้อยลง คิดง่ายๆอย่างนั้นตามสไตล์รัฐ โดยในทางปฏิบัติทำได้ไม่ง่ายสักเท่าไหร่ เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารเสียประโยชน์จึงต้องใช้อิทธิพลของตนชักคะเย่อกับฝ่ายนโยบายโภชนาการของรัฐ นำไปสู่ปัญหาคอร์รัปชันเชิงนโยบาย จ่ายเงินทอนบ้าง ใต้โต๊ะบ้าง สุดท้ายนโยบายที่ว่าดีเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ได้ หรือเกิดขึ้นแล้วนำไปปฏิบัติไม่ได้ ส่วนใหญ่คาราคาซังอยู่ในการประชุมของคณะกรรมการนโยบายโภชนาการนั่นแหละมาวันนี้รู้แล้วว่าอะไรบ้างคืออาหารขยะ ซึ่งหมายถึงอาหารด้อยคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นบรรดาเบอร์เกอร์ ไก่ทอด มันฝรั่งทอด พิซซ่า แพนเค้ก โดนัท ขนมขบเคี้ยว ของหวาน อาหารประเภททอดท่วม น้ำอัดลม แต่จะไปตำหนิอาหารเหล่านั้นตรงๆอาจไม่เป็นธรรมนัก นักนโยบายโภชนาการจึงต้องไปเสาะหาให้ได้ว่าสารอาหารกลุ่มไหน ในอาหารเหล่านั้นที่ทำให้อาหารกลุ่มที่ว่ากลายเป็นอาหารขยะ นี่คืออีกวิธีหนึ่งในการเล่นเกมชักคะเย่อเพื่อยืดอายุให้บรรดาอุตสาหกรรมอาหารเหล่านั้นครั้งใหม่นี้ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์คและทัฟท์ ทำวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร The Milbank Quarterly เดือนเมษายน ค.ศ.2023 ดูว่าแต่ละรัฐออกกฎหมายหรือนโยบายด้านอาหารขยะอะไรบ้าง กี่ฉบับแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสารอาหารในอาหารประเภทต่างๆ ทั้งเกลือ น้ำตาล ไขมันอิ่มตัว พลังงาน กระบวนการผลิต เพื่อศึกษาลึกลงไปว่าสารอาหารอะไรในอาหารขยะที่ทำให้อาหารเหล่านั้นกลายเป็นอาหารขยะ อันที่จริงน่าจะศึกษาไปด้วยว่าอะไรที่ทำให้นโยบายเหล่านั้นนำไปปฏิบัติไม่ได้ นั่นน่าจะเป็นการเกาให้ถูกที่คันมากกว่า #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #อาหารขยะ, #junkfood

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *