ออกกำลังกายยืดชีวิตลดความดันโลหิต

ผมเป็นคนขี้เหนียวเวลา ว่างจากงานเมื่อไหร่ไม่หันไปเขียนหนังสือก็ต้องอ่านหนังสือ ใช้เวลาจมอยู่กับกิจกรรมเฉื่อย (sedentary) อย่างนั้นปีแล้วปีเล่า หลายปีมาแล้วเริ่มรู้ตัวเมื่อเกิดอาการอึดอัดกับน้ำหนักตัวที่อยู่ในระดับ 84 กิโลกรัม ความดันโลหิตขึ้นไปที่ระดับเฉลี่ย 160/100 มม.ปรอท คอเลสเตอรอลขึ้นไปถึง 300 มก./ดล. หัวใจออกอาการเตือนว่าท่าจะทนไม่ไหว จึงหันมาถือศีลอดอาหารสองวันต่อสัปดาห์ โดยในวันที่อดอาหารพยายามคุมพลังงานทั้งวันไว้ ดูแลสุขภาพอย่างนี้จึงเริ่มมีสุขภาพดีขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเดือนรอมฎอนที่ต้องอดอาหารแบบไอเอฟทั้งเดือน น้ำหนักตัวลดลงไปที่ 78 กก. อย่างไรก็ตาม ความดันโลหิตก็ยังไม่ลดเชื้อไวรัสโคโรนาที่ระบาดหนักไปทั้งโลกตั้งแต่ต้น ค.ศ.2020 เข้ามาช่วยชีวิตไว้แท้ๆ จากที่ต้องเดินทางต่างประเทศชนิดเดือนเว้นเดือน ผมเดินทางไกลไปไหนไม่ได้เลยตลอดสองปีกว่า หันมามองชีวิตตนเองกระทั่งเริ่มคิดถึงการทำงานการกุศลด้านการศึกษาจึงตั้งมูลนิธิมุฮัมมะดียะฮฺและโรงเรียนสอนคิดขึ้น เริ่มมองสุขภาพตนเองกับอายุที่มากขึ้นทุกปี การออกกำลังกายที่แทบไม่เคยกร้ำกรายเข้ามาในชีวิต เห็นทีจะต้องเริ่มให้เป็นเรื่องเป็นราว แล้วผมก็เลือกวิธีการเดินเร็วที่น่าจะเหมาะที่สุดสำหรับคนวัยผม โดยเลือกการเดินเวลาเช้าและเย็นเริ่มเดินเร็ว (Brisk walking) เป็นเรื่องเป็นราวตั้งแต่ต้น ค.ศ.2022 เลือกที่การเดินวันละ 10,000 ก้าวนับจำนวนก้าวด้วยแอ็พ Pedometer ที่มีอยู่ในสมาร์ทโฟน เดินเร็วคือเดินให้ได้ 100 ก้าวต่อนาที 10 นาทีให้ได้อย่างน้อย 1,000 ก้าว ช่วงเช้าเดินหนึ่งชั่วโมงได้เฉลี่ย 6,000 ก้าวหรือเกือบ 5 กิโลเมตร ต่อด้วยการเดินทั้งวัน กระทั่งถึงเย็นจึงเก็บส่วนที่เหลือให้ครบหมื่นก้าวหรือประมาณ 7 กิโลเมตร ในหมื่นก้าวนี้อย่างน้อยร้อยละ 30 เป็นการเดินเร็ว เดินอย่างนี้ทุกวัน ในหนึ่งสัปดาห์อาจมีบ้างสักวันที่เดินไม่ถึงหมื่นก้าว ก็ใช้วิธีชดเชยในวันอื่นผลสัมฤทธิ์หลังจากออกกำลังกายมาได้สามเดือน น้ำหนักตัวผมลดลง 7% เหลือ 73 กิโลกรัม พุงลดลง ความดันโลหิตเหลือ 120/80 กลายเป็นคนปกติไปจนได้ ไขมันกลับมาเป็นปกติ สภาพหัวใจดีกว่าเก่า น้ำตาลในเลือดไม่ถึง 100 มก./ดล. ลองดูข้อมูลสนับสนุนทางวิชาการ จากงานการศึกษาของนายแพทย์เซอเรฟ อัลปซอย (Seref Alpsoy) แห่งภาควิชาหัวใจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนามิก เคมาล ประเทศตุรกี ตีพิมพ์ในวารสาร Adv Exp Med Biol ค.ศ.2020 พบว่าเมื่อความดันโลหิตตัวบนหรือซิสโตลิกลดลง 5 มม.ปรอท การตายจากโรคหลอดเลือดหัวใจลดลง 9% การตายจากโรคหลอดเลือดสมองลดลง 14% และการเสียชีวิตจากสาเหตุทั้งหมดลดลง 7% หากเป็นได้อย่างนี้ก็คุ้มที่จะออกกำลังกายด้วยการเดินเร็วให้ได้ทุกวัน ได้เหงื่อ ไม่เหนื่อย และไม่เสียเวลามาก ไปลองทำกันดู #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #การออกกำลังกายกับความดันโลหิต

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *