ศาสตร์ด้านลิพิโดมิกส์แนะให้ลดการบริโภคไขมันอิ่มตัวเพื่อเพิ่มสัดส่วนของโพลีและโมโน

ในทางชีววิทยาและชีวเคมี มีศาสตร์กลุ่มหนึ่งลงท้ายด้วยคำว่า “โอมิกส์” (omics) หมายถึงการศึกษาสิ่งมีชีวิตแบบองค์รวมตั้งแต่ระดับสารพันธุกรรม (DNA) ไปจนถึงกระบวนการคัดลอกรหัสสารพันธุกรรม (RNA) สร้างเป็นโปรตีนและเมแทบอลัยต์อื่นๆ เกิดเป็นศาสตร์ย่อยๆ ได้แก่ จีโนมิกส์ (genomics) ทรานสคริปโตมิกส์ (transcriptomics) โปรตีโอมิกส์ (proteomics) ลิพิโดมิกส์ (lipidomics) ผมเองจบการศึกษาด้านชีวเคมีทางการแพทย์ ทำงานวิจัยด้านลิพิโดมิกส์กระทั่งมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติจำนวนพอสมควร จึงอยากเล่าเรื่องนี้สักหน่อยก่อนเข้าเรื่องลิพิโดมิกส์ ขอเกริ่นก่อนว่าปัญหาสุขภาพในสังคมยุคใหม่ ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของโลก โดยมีผู้เสียชีวิตประมาณ 18 ล้านคนต่อปี ขณะเดียวกันพบว่าผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจวายหรือโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นสองถึงสามเท่า ที่เป็นดังนี้เนื่องจากไขมันมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาโรคหัวใจและหลอดเลือดและโรคเบาหวานประเภท 2 อย่างไรก็ตาม ในทางวิชาการยังขาดความเข้าใจด้านความสัมพันธ์ระดับโมเลกุลของบรรดาไขมันในอาหารและในเลือดโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรดไขมันทั้งหลายที่นำไปสู่พัฒนาการของโรคทั้งสองกลุ่มนักโภชนาการแม้นำเอาความรู้ทางด้านวิทยาลิพิดมาแนะนำให้กับผู้บริโภคทั่วไป เป็นต้นว่า หากต้องการลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดและโรคเบาหวานประเภท 2 แนะนำให้บริโภคไขมันหรือลิพิดไม่เกินร้อยละ 35 ของพลังงานที่ร่างกายได้รับ โดยเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวน้อยที่เรียกว่าโมโน (Mono) ประมาณร้อยละ 15-18 เป็นกรดไขมันอิ่มตัวร้อยละ 10 และเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงที่เรียกว่าโพลีประมาณร้อยละ 7-10 แนะนำกันอย่างนี้มานานโดยไม่เคยพิสูจน์ในเชิงลิพิโดมิกส์ได้เลยว่ามันให้ผลสัมฤทธิ์อย่างที่หวังจริงๆหรือเปล่า เป็นเพราะเหตุนี้ทีมวิจัยที่นำโดย นพ.อัยเชลมานน์ (Fabian Eichelmann) แห่งเยอรมนีจึงนำศาสตร์ด้านลิพิโดมิกส์ซึ่งเป็นวิธีการวิเคราะห์ที่ทันสมัย ระบุไขมันที่มีความสัมพันธ์ทางสถิติกับโรคหัวใจและหลอดเลือดและโรคเบาหวานประเภท 2 มาใช้ประโยชน์ ผลการวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร Circulation เดือนเมษายน ค.ศ.2022 บทสรุปคืออาหารที่มีสัดส่วนของกรดไขมันไม่อิ่มตัวประเภทโพลีเพิ่มขึ้นช่วยให้ไขมันที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงเช่นไขมันอิ่มตัวลดลงและไขมันที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น โมโนเพิ่มขึ้น สรุปเอาเป็นว่าที่เคยแนะนำกันในเรื่องการบริโภคไขมันนั้นถูกต้องตามหลักวิชาการด้านลิพิโดมิกส์แล้ว #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #ลิพิโดมิกส์, #lipidomics

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *