รู้จักกลุ่ม “ดาวะฮ์” กันหน่อย ตอนที่ 1

ถามกันมามากว่า “#ดาวะฮ์” (Dawah) คือใคร ผมเองไม่เคยร่วมในกลุ่มดาวะฮ์ แต่มีเพื่อนในกลุ่มนี้ไม่น้อย เอาเท่าที่พอเข้าใจก็แล้วกัน แต่ตามสไตล์ผมคือเราควรรู้พื้นเพเขาหน่อย เข้าใจวิธีคิด ก่อนที่จะวิพากษ์ ดาวะฮ์ตามหลักภาษาไทยควรเขียนว่า “#ดะอฺวะฮฺ” (دعوة Da’wah) เป็นภาษาอาหรับหมายถึงการเชิญชวน เริ่มต้นเมื่อ 1,400 ปีมาแล้ว โดยท่านศาสนทูต นบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) ส่งผู้แทนไปเชิญชวนคนเข้ารับอิสลาม นั่นเป็นอดีต ขณะที่ดาวะฮ์เฉพาะกลุ่มที่ถูกกล่าวถึงเวลานี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่เรียกว่า “ตับลีฆญะมาอะฮฺ” (تبلیغی جماعت Tabliqh Jamaat) หรือญะมาอะฮฺตับลีฆ รวมกลุ่มทำการดาวะฮ์เชิญชวนมุสลิมด้วยกันให้กลับเข้าสู่แนวทางอิสลามตามที่กำหนดโดยนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) กลุ่มนี้มีแนวคิดและแนวปฏิบัติที่เริ่มต้นในประเทศอินเดีย

ขอย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 19 ยุคจักรวรรดินิยม เมื่อจักรวรรดิอังกฤษเข้าปกครองอินเดีย ค.ศ.1858 เนเธอร์แลนด์ปกครองอินโดนีเซีย ค.ศ. 1800 ประชากรอินเดียนับถือศาสนาฮินดู มีไม่น้อยที่นับถืออิสลามโดยผู้ปกครองอินเดียก่อนหน้านั้นเป็นมุสลิมจากราชวงศ์โมกุล ส่วนอินโดนีเซีย ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ผู้ปกครองทั้งดัทช์และอังกฤษนำคณะมิชชันนารีเข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในดินแดนที่ตนเองปกครองด้วยเจตนาจะเปลี่ยนศาสนาของประชาชนให้เป็นคริสต์เพื่อง่ายต่อการปกครองซึ่งสเปนทำสำเร็จมาแล้วในฟิลิปปินส์ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 16 การต่อต้านจึงเกิดขึ้นทั้งในอินเดียและอินโดนีเซีย

ในอินเดียมีมุสลิมสองขบวนการสำคัญ ขบวนการแรกนำโดยมิรซา ฆุลาม อะฮฺมัด (Mirza Ghulam Ahmad ค.ศ.1835-1905) จัดตั้งกลุ่มอะฮฺมัดดียะฮฺ (Ahmadiyyah) ขึ้นใน ค.ศ.1889 ดำเนินงานศาสนาไปในทิศทางที่โอนอ่อนผ่อนตามแรงบีบของจักรวรรดิอังกฤษ กลุ่มนี้ภายหลังแปรเปลี่ยนไปถึงขนาดยกผู้นำของตนขึ้นเป็นศาสดา ขบวนการที่สองนำโดยมุฮัมมัด อิลยาส อัลคันดาวี (Muhammad Ilyas al-Kandhlawi ค.ศ.1884-1944) จัดตั้งกลุ่มตับลีฆญะมาอะฮฺขึ้นใน ค.ศ.1926 รวบรวมมุสลิมที่เวลานั้นมีแนวคิดกระจัดกระจายไปตามอิทธิพลของอังกฤษที่รุกหนักทางศาสนาก่อนหน้านั้น โดยประสงค์ให้มุสลิมหวนกลับสู่แนวทางเดิมของนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) ขณะที่ในอินโดนีเซีย อะหมัด ดะห์ลัน (Ahmad Dahlan ค.ศ.1868-1923) จัดตั้งองค์กรมุฮัมมาดียะฮฺ (Muhammadiyyah) ขึ้นใน ค.ศ.1912 เพื่อปฏิรูปมุสลิมด้านการศึกษา

นี่คือบรรยากาศทางการเมืองเรื่องศาสนาที่เกิดขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ต่อต้นศตวรรษที่ 20 เวลานั้นพลังอำนาจของจักรวรรดินิยมไม่เอื้อให้คนท้องถิ่นต่อสู้รุนแรงด้วยอาวุธ นักปฏิวัติทางศาสนาอิสลามจึงใช้กลยุทธดึงมุสลิมกลับเข้าสู่แนวทางเดิม อะหมัดดียะฮ์ทำเกินเลยไปหน่อย ขณะที่ญะมาอะฮฺตับลีฆทำได้ดีกว่าโดยไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับงานการเมืองหรือแม้แต่ในความเชื่อเดิมทางศาสนาเป็นผลให้กลุ่มนี้ได้รับความนิยมแผ่กว้างออกไปจากอินเดีย ปัจจุบันคาดว่ามีผู้ที่ดำเนินงานในแนวทางนี้อาจมากถึง 80 ล้านคนในกว่า 150 ประเทศรวมทั้งในประเทศไทย #drwinaidahlan#ดรวินัยดะห์ลัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *