ผู้ป่วยโรคหัวใจถือศีลอดเดือนรอมฎอนได้ไหม

“รอมฎอน” เดือนที่เก้าตามปฏิทินจันทรคติของอาหรับ ตลอดเดือนนี้ มุสลิมที่บรรลุวัยศาสนภาวะพากันถือศีลอดโดยงดเว้นการกินการดื่มการเสพกาม ตั้งแต่ก่อนเช้าจรดดวงอาทิตย์ตก ข้อปฏิบัตินี้บังคับเฉพาะคนที่มีสุขภาพปกติ โดยอนุโลมสำหรับผู้ป่วยหรือผู้มีสภาวะร่างกายที่สุ่มเสี่ยง เป็นต้นว่า ตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร หรือแม้กระทั่งผู้เดินทาง โดยให้ถือศีลอดชดใช้ในภายหลัง หรือโดยทำบุญทดแทน แล้วแต่กรณี ทว่าเอาเข้าจริง ผู้ที่ได้รับการอนุโลมเหล่านั้นจำนวนไม่น้อยกลับประสงค์ที่จะถือศีลอด โดยแทบไม่ฟังคำทัดทานจากแพทย์หรือแม้กระทั่งนักวิชาการศาสนาอิสลามเลยด้วยซ้ำด้วยความศรัทธาแรงกล้าเช่นนี้ วงการแพทย์และโภชนาการจึงหาหนทางปกป้องคนเหล่านั้นโดยจัดทำข้อแนะนำเกี่ยวกับการถือศีลอดอย่าง ‘ปลอดภัย’ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรังบางอย่าง เช่น เบาหวาน หรือโรคอื่นๆ หรือแม้กระทั่งหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร อย่างไรก็ตาม ยังขาดคำแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด แม้จะมีรายงานวิจัยว่าการถือศีลอดนั้นดีต่อสภาวะหัวใจทว่านั่นหมายถึงการป้องกันโรคหัวใจ มิได้หมายถึงผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีอาการค่อนข้างหนัก เหตุนี้เอง นพ.อาบิด โมฮัมเม็ด อักฮฺตารฺ (Abid Mohammed Akhtar) แห่งหน่วยวิทยาหัวใจ ศูนย์หัวใจบาร์ทส์ แห่ง Barts Health NHS Trust ลอนดอน สหราชอาณาจักร และคณะจึงรับอาสาที่จะทำข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ประสงค์จะถือศีลอดถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2022 ข้อแนะนำว่าด้วยการปฏิบัติตนช่วงการถือศีลอดเดือนรอมฎอน สำหรับมุสลิมที่ป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดรวมถึงโรคหลอดเลือดสมองจึงได้รับการตีพิมพ์ออกมาในวารสาร Heart ข้อแนะนำดังกล่าวแบ่งผู้ป่วยออกเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ำหรือปานกลาง ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบคงที่หรือภาวะหัวใจล้มเหลวที่ไม่รุนแรง กลุ่มเสี่ยงสูง ได้แก่ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่ควบคุมได้ไม่ดีหรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย และกลุ่มเสี่ยงสูงมาก ได้แก่ ภาวะหัวใจล้มเหลวขั้นสูง กลุ่มเสี่ยงสูงมากทางทีมไม่แนะนำให้ถือศีลอด ขณะที่กลุ่มแรกและกลุ่มที่สองอนุญาตให้ถือศีลอดได้ภายใต้การดูแลของแพทย์ โดยพิจารณาทางเลือกที่ปลอดภัย เช่นว่า ถือศีลอดที่ไม่ต่อเนื่องหลายวัน หรือเลือกถือเฉพาะบางวัน หรืออดอาหารในวันที่มีเวลาสั้นลง อย่างเช่น กรณีในประเทศหนาวในช่วงฤดูหนาวซึ่งช่วงวันค่อนข้างสั้น ทั้งนี้ผู้ป่วยที่ประสงค์ถือศีลอดจำเป็นต้องได้รับการอบรมก่อนรอมฎอนเพื่อเรียนรู้ถึงความเสี่ยงรวมถึงวิธีบริหารจัดการ เช่น ความเสี่ยงของภาวะขาดน้ำ การได้รับของเหลวเกิน สุดท้ายคือต้องเรียนรู้การตัดสินใจหยุดถือศีลอดหากเห็นว่าปฏิบัติต่อไปไม่ไหว เมื่อเสี่ยงเกินไป #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #การถือศีลอดของผู้ป่วยโรคหัวใจ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *